คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การฟ้องขอให้ผู้รับโอน โอนนาหรือที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่น ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกาควบคุมให้แก่ผู้เช่า โดยอ้างว่าผู้ให้เช่าขายไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้เช่าทราบนั้น ผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อนกล่าวคือ ต้องมีการร้องขอต่อ คชก. ตำบลเพื่อวินิจฉัยให้จำเลยขายที่ดินให้แก่โจทก์เสียก่อน เมื่อ คชก.ตำบลวินิจฉัยเป็นประการใด ผู้ไม่พอใจมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัย แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ คชก. ตำบลมีคำวินิจฉัย มิฉะนั้นให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นถึงที่สุดหาก คชก.จังหวัดวินิจฉัยแล้วยังไม่เป็นที่พอใจจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้ เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีทันทีโดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบังคับไว้ เช่นนี้ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องและอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
จำเลยฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารรื้อถอนบ้านเรือนออกจากที่พิพาท โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งไว้ว่า โจทก์เช่าที่ดินพิพาทเพื่อการเกษตรกรรม ปลูกพืชล้มลุกเช่นกล้วยเป็นพืชหลักและเป็นรายได้หลักตลอดมาปัญหาจึงอยู่ที่ว่าต้นกล้วยเป็นพืชไร่หรือไม่ การปลูกต้นกล้วยของโจทก์ถึงขนาดเป็นการทำนาหรือไม่ ถ้าเป็นที่ดินที่ทำก็ถือได้ว่าเป็นนาตามบทบัญญัติใน มาตรา 21แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 โจทก์จึงอาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าวให้ยังไม่ต้องถูกขับไล่ออกจากที่เช่าก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่ศาลจะพึงพิจารณาสืบพยานทั้งสองฝ่ายก่อน ไม่ควรที่จะงดสืบพยานโดยไม่ฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 249

ผู้พิพากษา

ปชา วรธรรมพินิจ
จุนท์ จันทรวงศ์
ถวิล ทองสว่างรัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android