คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3021/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
หลังจากจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีแล้ว จำเลยไม่ได้อยู่รอฟังคำสั่งแต่ได้ให้คำรับรองไว้ว่า ตนรอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอก็ให้ถือว่าทราบแล้ว ศาลชั้นต้นได้เกษียนสั่งในคำให้การของจำเลยในวันเดียวกันนั้นเองให้รับคำให้การจำเลยสำเนาให้โจทก์นัดพร้อมตัวความและสืบพยานโจทก์ ฯลฯ แม้เจ้าหน้าที่ศาลได้กำหนดวันสืบพยานโจทก์โดยไม่มีลายมือชื่อฝ่ายจำเลยทราบวันสืบพยานโจทก์ในบัญชีนัดพิจารณาคดีของศาลก็ตาม แต่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ศาลที่กำหนดวันสืบพยานโจทก์นั้น ถือว่าได้กระทำหรือปฏิบัติภายใต้การกำกับดูแลหรือตามคำสั่งศาล คดีจึงถือว่าจำเลยทราบคำสั่งศาลในวันที่จำเลยยื่นคำให้การ ที่จำเลยอ้างว่าป่วยไม่ได้มาศาลก่อนที่จำเลยทราบก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังที่จำเลยทราบคำสั่งแล้ว และถือว่าจำเลยไม่มาศาลในวันสืบพยานโจทก์เป็นการจงใจขาดนัดพิจารณา
ข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 จะต้องกล่าวในคำขอให้พิจารณาใหม่โดยชัดแจ้งให้เห็นว่าตนอาจชนะคดีได้อย่างไร คำขอให้พิจารณาใหม่ตลอดจนคำให้การของจำเลยไม่ได้กล่าวว่าโจทก์ได้รู้ความจริงว่า เช็คตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ตามเช็ค หรือโจทก์รับโอนเช็คด้วยการคบคิดกับผู้ที่รับเช็คไว้จากจำเลยเพื่อฉ้อฉลจำเลย ไม่ได้ให้การไว้โดยชัดแจ้งว่าขณะที่โจทก์รับมอบเช็คนั้นไว้ โจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและมีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงินตามเช็คนั้น คดีจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบหรือรับเช็คนั้นไว้โดยสุจริต จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น แม้จะพิจารณาใหม่ จำเลยก็ไม่อาจชนะคดีได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 989
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208

ผู้พิพากษา

เฉลิม การปลื้มจิตต์
ชูเชิด รักตะบุตร์
ธิรพันธุ์ รัศมิทัต

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android