คำพิพากษาย่อสั้น
คำสั่งของศาลแรงงานตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 ที่อนุญาตให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้ มีผลเป็นเพียงคำอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างได้เท่านั้น มิใช่เป็นคำสั่งแทนนายจ้างให้เลิกจ้างกันได้โดยทันที แต่เป็นการให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะเลิกจ้างได้และนายจ้างต้องออกคำสั่งเลิกจ้างตามที่ศาลแรงงานได้อนุญาตแล้ว สัญญาจ้างจึงจะเป็นอันสิ้นสุดลง ส่วนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างโดยตรงต่อลูกจ้างว่านายจ้างมีความประสงค์จะเลิกจ้างลูกจ้างนั้น การยื่นคำร้องขอต่อศาลแรงงานกลางเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ มิใช่เป็นการแสดงเจตนาต่อโจทก์การที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ต่อมาตามคำสั่งของศาลแรงงาน โดยโจทก์มิได้กระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตาม มาตรา 583 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง คดีอยู่ระหว่างพิจารณา จำเลยได้มีคำสั่งเป็นหนังสือให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีโดยกำหนดให้หยุดตั้งแต่วันที่กำหนดให้เป็นต้นไป ย่อมถือได้ว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10 แล้ว และเป็นการกำหนดช่วงระยะเวลาให้โจทก์พิจารณาเลือกวันหยุดเอาเองตามความสะดวกและเหมาะสม เมื่อโจทก์ไม่ยอมหยุดตามที่จำเลยกำหนดไว้ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์