คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2592/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โรงเรือนของโจทก์เป็นประเภทโรงงาน โรงเรือนของบริษัท ท.เป็นโรงเรือนธรรมดา สภาพของโรงเรือนไม่เหมือนกัน พนักงานของจำเลยที่ 1 นำอัตราค่าเช่าโรงเรือนของบริษัท ท. ซึ่งให้บริษัท ข. เช่ามาเป็นเกณฑ์คำนวณค่ารายปีของบริษัทโจทก์ด้วย จึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง และที่โรงเรือนของบริษัท ท.ให้เช่าได้เดือนละ 100,000 บาท ก็เป็นเรื่องเฉพาะรายไม่ใช่อัตราค่าเช่าทั่ว ๆ ไป ทั้งที่ดินและโรงเรือนดังกล่าวอยู่คนละถนนกัน การที่พนักงานของจำเลยที่ 1 แก้ไขค่ารายปีของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือนเพิ่มขึ้นมากมาย และอัตราส่วนที่เพิ่มก็ไม่แน่นอน ดังนี้ เป็นการประเมินเรียกเก็บภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรให้ประเมินเพิ่มขึ้นปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ตามทภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
โรงพ่นสีของโจทก์ให้เป็นที่พ่นสีกระเบื้องลอนคู่มุงหลังคาบ้าน ภายในโรงงานมีแท่นสายพาน 3 แท่น ยาวตลอดโรงงานติดตั้งถาวรกับเสาเหล็กมีกล่องเหล็กสำหรับอบความร้อนและพ่นสีหุ้นสายพาน มีเครื่องพ่นสีติดตั้งอยู่เหนือแท่นสายพาน มีเครื่องปั๊มลมอยู่ด้านหลัง ใกล้ ๆ เครื่องปั๊มลมมีเครื่องทำความร้อน 2 เครื่อง และมีท่อระบายความร้อนผ่านเหนือแท่นสายพาน โรงพ่นสีของโจทก์จึงเป็นโรงเรือนที่ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เพื่อให้ดำเนินอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องของโจทก์ ย่อมได้รับลดหย่อนค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามตาม มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 หาจำต้องเป็นเครื่องจักรกลไกที่มีลักษณะเป็นเครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าด้วยไม่
โจทก์เป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าและประกอบการอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องกระดาษเพื่อมุ่งหาผลกำไร สำนักงานนายช่างก็คือสถานที่ดำเนินงานของโจทก์ ส่วนโรงอาหารก็จัดไว้เพื่อพนักงานของโจทก์หรือผู้ที่มาติดต่อธุรกิจกับโจทก์ส่วนสถานพยาบาลก็เป็นสถานที่สำหรับรักษาพยาบาลให้แก่พนักงานของโจทก์โดยเฉพาะถือได้ว่าโจทก์ใช้โรงเรือนดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมของโจทก์มิใช่อยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษาตามความหมาย ของมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475ที่แก้ไขแล้ว
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 39 วรรคสอง มีความหมายว่า ในกรณีที่โจทก์ฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีส่วนที่โจทก์จำต้องชำรเกินไปและศาลพิพากษาให้คืน จำเลยก็ต้องคืนให้โจทก์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุดโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่ถ้าไม่คืนในกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยก็ต้องเสียดอกเบี้ย (ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี)ให้โจทก์โดยนับแต่วันครบกำหนด 3 เดือนจากวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 10
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 13
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 16
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android