คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2522/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 นัดหยุดงานโดยไม่มีข้อเรียกร้องไม่มีข้อพิพาทแรงงาน เป็นการนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มิได้ตั้งข้อหาและมิได้อาศัยข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 99 แต่ประการใดซึ่งมาตรานี้เป็นบทยกเว้นความรับผิดมิใช่บทบังคับการกระทำ จึงไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องบรรยายฟ้องกล่าวแก้จำเลยเป็นการล่วงหน้าไว้ก่อน หากแต่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะยกบทมาตราดังกล่าวขึ้นต่อสู้ว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะต้องด้วยข้อยกเว้นข้อใดข้อหนึ่งในสี่ประการนั้นจำเลยจะยกมาตรา 99 ขึ้นปรับคดีว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 1 ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์รวม 10 ข้อ ตกลงกันได้ 3 ข้อ คงเหลือข้อเรียกร้องที่ตกลงกันไม่ได้อีก 7 ข้อ ต้องถือว่าข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีอยู่ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 22 วรรคสาม การที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธินัดหยุดงานในวันที่ 8 แล้วกลับเข้าทำงานในวันที่ 9 เดือนเดียวกัน โดยลำพังตนมิได้ขอกลับเข้าทำงานต่อฝ่ายบริหารของโจทก์ ไม่ถือว่าเป็นการสละข้อเรียกร้อง และจะถือว่าข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เป็นอันระงับหรือสิ้นสุดลงด้วยการนัดหยุดงานและกลับเข้าทำงานใหม่ไม่ได้ เพราะไม่มีบทมาตราใดในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์บัญญัติไว้เช่นนั้น สิทธินัดหยุดงานของจำเลยที่1 จึงไม่สิ้นไป
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หามีบทมาตราใดบังคับว่าเมื่อข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว ลูกจ้างพึงใช้สิทธินัดหยุดงานได้แต่เพียงครั้งเดียวไม่ การแปลกฎหมายว่าลูกจ้างมีสิทธินัดหยุดงานได้ครั้งเดียวทั้งที่ไม่มีบทมาตราใดบัญญัติห้ามไว้โดยชัดแจ้ง เป็นการแปลที่จำกัดสิทธิโดยชอบธรรมของลูกจ้างการนัดหยุดงานเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายของลูกจ้างที่จะให้ได้มาซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามข้อเรียกร้องของตน มิใช่ฝ่ายนายจ้างเท่านั้นที่ได้รับความเสียหายที่กิจการต้องหยุดชะงักงัน ฝ่ายลูกจ้างเองก็ต้องได้รับความเสียหายดุจกันที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ดังนั้น ถ้าลูกจ้างสามารถใช้สิทธินัดหยุดงานครั้งเดียวเป็นเวลายาวนานทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมากได้โดยชอบ การนัดหยุดงานเป็นช่วง ๆ เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เป็นการกระตุ้นเตือนให้นายจ้างรู้สำนึกถึงความเดือดร้อนทีละน้อยแล้วจะทวีความรุนแรงขึ้นโดยลำดับ เพื่อให้มีการหันหน้าเข้าเจรจาให้ได้มาซึ่งข้อตกลงร่วมกันจึงกระทำได้ การใช้สิทธินัดหยุดงานครั้งหลัง ๆ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 22
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 34
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 99
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 35

ผู้พิพากษา

จุนท์ จันทรวงศ์
สมบูรณ์ บุญภินนท์
มาโนช เพียรสนอง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android