คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
กรณีที่จะเป็นการรับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ชำระหนี้รับช่วงสิทธิของผู้รับชำระหนี้มาฟ้องร้องเอาจากผู้ที่ตนชำระหนี้แทน แต่กรณีของคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องจำเลยผู้รับชำระหนี้เสียเอง จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229(3)
การที่ผู้เช่าชำระหนี้ค่าภาษีแทนผู้ให้เช่าในนามของผู้ให้เช่าตามความผูกพันในสัญญาเช่า ระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่า และพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับชำระหนี้จากผู้เช่าแล้ว ถือได้ว่าผู้เช่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้ เมื่อปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บภาษีเกินไป ผู้เช่าย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินภาษีส่วนที่อ้างว่าชำระเกินนั้นคืนได้ ถ้าหากได้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้
ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน มาตรา 8 กำหนดให้คิดค่าภาษีตามค่ารายปีของทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ใช้ค่าเช่าเป็นหลักคำนวณค่ารายปี แต่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินแก้หรือคำนวณค่ารายปีใหม่ได้เมื่อมีเหตุให้เห็นว่าค่าเช่าระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่าตามสัญญาเช่าไม่ใช่จำนวนเงินอันสมควรและมีข้อเท็จจริงว่าปรากฏเหตุเช่นนั้น หากค่าเช่าไม่ได้น้อยจนเกินสมควรหรือไม่มีเหตุที่น่าจะเห็นได้ว่าผู้ให้เช่าและผู้เช่าสมยอมกันแล้ว เจ้าพนักงานประเมินก็ต้องประเมินค่ารายปีเพื่อเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามจำนวนค่าเช่าที่ผู้เช่าชำระให้แก่ผู้ให้เช่า
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 40

ผู้พิพากษา

โสภณ รัตนากร
ไพรัช วงศ์วัฒนะ
วิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android