คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พันตำรวจตรี ส. ปฏิบัติงานในหน้าที่นายทะเบียนคนต่างด้าวแทนจำเลย ได้ปฏิเสธไม่ยอมออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ ขณะฟ้องคดีจำเลยยังดำรงตำแหน่งนายทะเบียนคนต่างด้าว มีหน้าที่ออกใบสำคัญประจำตัวให้คนต่างด้าวทั้งโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยในฐานะนายทะเบียนคนต่างด้าว หาได้ฟ้องในฐานะส่วนตัวไม่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยได้ ไม่เป็นการผิดตัว และกรณีนี้ถือว่า นายทะเบียนคนต่างด้าวได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว
โจทก์ฟ้องตั้งรูปคดีเป็นเรื่องโจทก์ขอให้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ เพราะโจทก์ถูกถอนสัญชาติไทยโดยบรรยายฟ้องว่า โจทก์เกิดในประเทศไทยได้สัญชาติไทยตามกฎหมาย ต่อมาโจทก์ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 โจทก์จึงไปยื่นคำร้องขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว แต่นายทะเบียนคนต่างด้าวปฏิเสธ แล้วมีคำขอให้บังคับจำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ ซึ่งมีความหมายเป็นการขอเพิกถอนคำสั่งเดิมของนายทะเบียนคนต่างด้าวไปในตัวอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขอให้เพิกถอนคำสั่งกล่าวอีก เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว คำสั่งเดิมที่ปฏิเสธไม่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์เพราะเหตุอะไร และสั่งไว้อย่างไร เป็นรายละเอียดที่จำเลยจะยกขึ้นต่อสู้คดีเอง คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
คนต่างด้าวจะขอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวได้ 2 กรณีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 7 และมาตรา 8 สำหรับกรณีตามมาตรา 7 เป็นเรื่องให้คนต่างด้าวที่มีอายุ 12 ปีบริบูรณ์หรือคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองไปขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวได้ ภายใน 7 วัน ฯลฯ ซึ่งไม่รวมถึงบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยมาก่อนแล้วเสียสัญชาติไทยไปในตอนหลังด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวจะต้องขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ตามมาตรา 8 และการเสียสัญชาติไทยตามมาตรา 8 นี้ มิได้หมายความถึงเฉพาะการเสียสัญชาติไทย ตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 เท่านั้น ต้องรวมถึงการเสียสัญชาติไทยในทุกกรณี โจทก์เสียสัญชาติไทยไปตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 เพราะโจทก์เกิดในประเทศไทยในขณะที่บิดาโจทก์เป็นคนต่างด้าวและได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง จึงอยู่ในข่ายจะต้องขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ตามมาตรา 5 เช่นกัน
โจทก์ทำหนังสือขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวยื่นมาโดยมิได้ส่งรูปถ่ายและยื่นเรื่องราวตามแบบ ท.ต. ของทางราชการ นายทะเบียนคนต่างด้าวปฏิเสธไม่ยอมออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ทันทีโดยมิได้บอกกล่าวให้ทราบว่าโจทก์ทำไม่ถูกต้องอย่างไร และไม่ได้ความว่าโจทก์ขัดขืนไม่ยอมยื่นเรื่องราวตามแบบ ท.ต. 1 ของทางราชการ จึงไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน มาตรา 8 แห่ง พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 ย่อมมีสิทธิจะได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ตาม มาตรา 9 นายทะเบียนคนต่างด้าวจะใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้ ศาลสั่งให้จำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์เมื่อมีการยื่นคำขอใหม่ตามแบบ ท.ต. 1 แล้วได้ และไม่ถือว่าเกินคำขอท้ายฟ้อง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
  • พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 มาตรา 9
  • ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มาตรา 9

ผู้พิพากษา

ดำรง สายเชื้อ
อาจ ปัญญาดิลก
มาโนช เพียรสนอง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android