คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 725/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ในสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่าโจทก์ผู้ขายเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่า จะขายทรัพย์สินนั้น หรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 แต่สัญญาดังกล่าวนอกจากใช้ชื่อว่าหนังสือสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขแล้ว ข้อความตามหนังสือสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นสัญญาซื้อขายรถยนต์โดยโจทก์ผู้ขายยอมให้จำเลยผู้ซื้อผ่อนชำระราคามีเงื่อนไขว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อผู้ซื้อผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้ว ทั้งในกรณีผิดนัดผิดสัญญา หรือทรัพย์ตามสัญญาสูญหายก็ยังให้สิทธิผู้ขายได้รับชำระค่ารถส่วนที่ยังค้างชำระเต็มราคาค่ารถที่ซื้อขายแสดงให้เห็นว่า กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม คู่กรณีมีเจตนาให้ผู้ขายได้รับชำระราคารถยนต์ที่ซื้อขายจนครบถ้วนเท่านั้น ไม่มีข้อตกลงว่าถ้าผู้ซื้อผิดนัดผิดสัญญา ให้ผู้ขายริบบรรดาเงินที่ผู้ซื้อได้ใช้มาแล้ว และผู้ขายเข้าครองรถยนต์เป็นของตนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 574 สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิตาม มาตรา 459 หาใช่สัญญาเช่าซื้อไม่ การที่ผู้ขายกำหนดเงื่อนไขการรักษา การใช้ และการเอาประกันภัยรถยนต์ในระหว่างผ่อนใช้ราคาไม่ครบก็ดี ให้ผู้ซื้อต้องมีผู้ค้ำประกันในการปฏิบัติตามสัญญาก็ดี ก็เป็นเพียงการสงวนทรัพย์สินและแสวงหาหลักประกันของผู้เขายเพื่อให้ได้รับชำระราคาครบถ้วนแน่นอนยิ่งขึ้นเท่านั้น หาเป็นเหตุให้สัญญากลายเป็นการเช่าซื้อไม่
สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขระบุว่า แม้ว่าสัญญาฉบับนี้จะผ่านการโอนการต่ออายุหรือการเปลี่ยนมืออย่างใด หรือตัวยานยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาต้องประสบความสูญเสียเสียหายหรือย่อยยับประการใด ผู้ซื้อก็หาหลุดพ้นจากหน้าที่รับผิดตามสัญญาฉบับนี้แต่อย่างใดไม่ ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายรวมตลอดถึงยานยนต์สูญหายไปเพราะเหตุถูกคนร้ายลักไปด้วย ฉะนั้น เมื่อระหว่างที่จำเลยชำระเงินค่าซื้อรถยนต์ตามสัญญายังไม่ครบถ้วน รถถูกคนร้ายลักไปยังไม่ได้กลับคืนมา จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์แก่โจทก์จนครบถ้วน ข้อสัญญาดังกล่าวข้างต้นเป็นการยกเว้นบทบัญญัติ มาตรา 372 วรรคแรก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาย่อมตกลงกันให้เป็นอย่างอื่นได้ ข้อสัญญานั้นจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 114
เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระราคารถยนต์ให้โจทก์แม้รถนั้นจะสูญหายไปแต่จำเลยมิได้ชำระ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จึงเป็นผลให้สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขฉบับพิพาทสิ้นสุดลง คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม มาตรา 391 จำเลยต้องคืนรถให้โจทก์ และโจทก์ต้องคืนเงินค่ารถที่ได้รับไว้แล้วพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลย แต่ปรากฏว่ารถยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาสูญหายเพราะถูกลักไปยังไม่ได้คืนจำเลยไม่สามารถส่งรถยนต์คืนให้โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระราคารถให้แทน โดยชำระเฉพาะส่วนที่ยังส่งไม่ครบพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกสัญญา ตามมาตรา 224
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 114
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 372
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572

ผู้พิพากษา

พิชัย วุฒิจำนงค์
สำเนียง ด้วงมหาสอน
อภินย์ ปุษปาคม

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android