คำพิพากษาย่อสั้น
ศาลแรงงานพิเคราะห์คำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลย อีกทั้งคำแถลงรับของคู่ความแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีได้ จึงสั่งงดสืบพยานและใช้ดุลพินิจรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แน่ชัดเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การเลิกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง มีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปอันมีผลตลอดไปเป็นการถาวร ประการที่สอง นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง และประการที่สาม สาเหตุเนื่องมาจากสัญญาจ้างสิ้นสุดหรือเหตุอื่นใด
นายจ้างหยุดกิจการเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่ได้ทำงานกับนายจ้าง แม้นายจ้างจะโอนย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานกับบุคคลภายนอกก็ต้องให้ลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วยจึงต้องถือว่านายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานอันมีผลตลอดไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเนื่องจากนายจ้างหยุดกิจการอันเป็นเหตุอื่นใด จึงเป็นกรณีเลิกจ้าง นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 เมื่อนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า นายจ้างจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 582 ด้วย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทผู้เป็นนายจ้าง จำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดการใช้หนี้เงินของบริษัทนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว