คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5329/2558

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 9 ก.ย. 2559 15:09:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
บริษัทในเครือโจทก์ประกอบกิจการขายอาหารประเภทโดนัทมาเป็นเวลานานหลายสิบปี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคจนมีการขยายกิจการไปหลายแห่งทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ แสดงถึงการเป็นกิจการขนาดใหญ่มีสาขาเครือข่ายมาก ถือได้ว่าเป็นกิจการที่มีชื่อเสียง และมีการประชาสัมพันธ์โดยเปิดเว็บไซต์ให้บุคคลเข้าดูรายละเอียดทางอินเทอร์เน็ตได้ ทั้งคำว่า "KRISPY KREME" ซึ่งมีลักษณะเลียนจากคำว่า "CRISPY CREAM" โดยมีเสียงอ่านเป็นทำนองเดียวกันนั้น มีลักษณะให้เห็นได้ว่าเป็นคำประดิษฐ์ที่ใช้ความคิดสร้างคำโดยนำคำ 2 คำ มาใช้ประกอบกัน ทั้งที่คำทั้งสองไม่น่าจะใช้ประกอบกันได้เนื่องจากคำว่า CRISPY ซึ่งย่อมเข้าใจได้ตามปกติว่ามีความหมายว่ากรอบ ขณะที่คำว่า CREAM เป็นคำที่หมายถึงครีมที่มีลักษณะเหลวเป็นปกติ เมื่อนำมาใช้ประกอบกันจึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน จึงเป็นการใช้คำที่แปลกไปจากการใช้คำตามปกติธรรมดาโดยทั่วไป ย่อมดึงดูดและสร้างสรรค์ให้เกิดความสนใจรวมทั้งช่วยให้สังเกตจดจำได้ดีมีลักษณะเด่น มีลักษณะที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ดังนี้ที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อบริษัทว่า "บริษัท ค." ซึ่งตรงกับคำว่า "CRISPY CREAM" ทั้งที่เป็นคำที่มีความแปลกเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากที่ไม่น่าจะมีผู้อื่นนำใช้พ้องกันโดยบังเอิญเช่นนี้ ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าการใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เช่นนี้เป็นการลอกเลียนชื่อทางการค้าที่มีชื่อเสียงของโจทก์แม้เครื่องหมายบริการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมาย โดยใช้คำว่า "CRISPY CREAM" ประกอบกับภาพประดิษฐ์ก็ตาม แต่ก็ย่อมเห็นได้ชัดว่าคำว่า "CRISPY CREAM" ที่ใช้นี้ย่อมเป็นคำเรียกขานถึงเครื่องหมายบริการและกิจการบริการของจำเลยที่ 1 นั่นเอง ซึ่งเมื่อเป็นการนำมาใช้โดยไม่สุจริตแล้ว การใช้ชื่อบริษัทของจำเลยที่ 1 ก็ดี การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวก็ดี ย่อมล้วนเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 และเป็นการกระทำที่เป็นเหตุให้สาธารณชนผู้พบเห็นการให้บริการด้านจัดหาอาหารและเครื่องดื่มสำหรับการประชุมและสัมมนาภายใต้ชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และเครื่องหมายบริการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนที่คล้ายกับโจทก์ย่อมมีโอกาสเข้าใจไปได้ว่า การให้บริการของโจทก์และจำเลยที่ 1 มีภาพลักษณ์และชื่อเสียงในทางธุรกิจในมาตรฐานเดียวกัน การใช้ชื่อทางการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์แล้ว จึงชอบที่โจทก์จะมีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวได้
คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องหมายบริการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนซึ่งโจทก์ยื่นคำคัดค้านอ้างว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่า แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้อันเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 38 วรรคสอง ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยในประเด็นว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการหรือไม่ โดยหากฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ก็แสดงว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ซึ่งไม่มีสิทธิจดทะเบียน แล้วพิพากษาไปตามที่ฟังได้ดังกล่าว และมีผลให้นายทะเบียนไม่อาจมีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการให้จำเลยที่ 1 ตามคำขอจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้โดยไม่จำต้องพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนแต่อย่างใด
นอกจากนี้โจทก์ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการเฉพาะกับสินค้าหรือบริการที่ได้จดทะเบียนไว้ และอาจห้ามจำเลยที่ 1 ขายสินค้าหรือให้บริการในลักษณะลวงขายหรือลวงการให้บริการให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือบริการของโจทก์เท่านั้น หากจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อจำเลยที่ 1 ประกอบการอย่างอื่นโดยไม่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการในรายการเดียวกับที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้หรือไม่ได้ลวงขายสินค้าหรือลวงให้บริการ จำเลยที่ 1 ก็ยังกระทำได้ โจทก์ยังไม่มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อบริษัทว่า บริษัท ค. โดยเด็ดขาดทุกกรณี
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 38
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ผู้พิพากษา

ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร
อร่าม เสนามนตรี
ปริญญา ดีผดุง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android