คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16562/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 24 ก.พ. 2559 08:55:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
สำหรับในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 การพิจารณาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์บรรยายไว้แล้วในคำฟ้องเท่านั้น โดยเทียบเคียงบทบัญญัติตามมาตราในกฎหมายที่โจทก์มีคำขอ ให้ลงโทษจำเลยว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตราเหล่านั้นครบถ้วนหรือไม่ เพราะปัญหาว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่ต้องพิจารณาว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงว่าอย่างไร ครบองค์ประกอบของความผิดนั้นหรือไม่ เพราะคำฟ้องต้องชอบด้วยกฎหมายที่ศาลจะรับไว้พิจารณาต่อไปได้เสียก่อน การที่โจทก์จะอุทธรณ์จึงต้องอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า เมื่อพิจารณาจากการบรรยายฟ้องแล้ว โจทก์เห็นว่าคำบรรยายฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายในส่วนนี้แล้วอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลขัดหรือคลาดเคลื่อนกับที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้อย่างไร เพื่อให้เห็นได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร เมื่อโจทก์เพียงแต่อุทธรณ์โดยยกเอาข้อเท็จจริงตามคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องของพยานโจทก์มากล่าวอ้างว่าได้เบิกความไว้ว่าอย่างไร แล้วสรุปว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์แจ้งชัดแล้ว จึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเพื่อโต้แย้งข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ข้อมูลที่จะเป็นความลับทางการค้าตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 ต้องเป็นข้อมูลการค้า แต่ฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่าข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งโรงไฟฟ้า สถานที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แผนผังของโรงไฟฟ้าและข้อมูลอื่น ๆ ที่โจทก์ศึกษาเป็นข้อมูลการค้าและข้อมูลในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานลมเป็นต้นกำลังเกี่ยวกับเรื่องใดที่โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าเก็บไว้เป็นความลับ แม้โจทก์จะไม่ต้องระบุถึงรายละเอียดของข้อมูลที่เก็บเป็นความลับนั้น โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดและใช้มาตรการใดที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ ทั้งมิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลที่โจทก์เก็บเป็นความลับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับอย่างไร ทั้งการกระทำที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ มาตรา 33 ต้องระบุในฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์เรื่องใดให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้าโดยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียง หรือการแพร่ภาพ หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด นอกจากนี้โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ ว่า จำเลยทั้งสามได้เปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งจำเลยทั้งสามได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการใดตามพระราชบัญญัตินี้ โจทก์คงบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันเปิดเผย เอาไปหรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าในเอกสารประกอบคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการหาดกังหัน 3 ของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์อันมีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกัน ทั้งนี้จำเลยทั้งสามมีเหตุอันควรจะได้รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำขัดต่อแนวทางเช่นว่านั้นโดยนำไปทำเป็นเอกสารประกอบของคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้ออ้างว่า จำเลยทั้งสามละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสามกระทำการที่มีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกันอันเป็นการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าในทางแพ่งดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติผิดสัญญาใดต่อโจทก์หรือจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดหรือกระทำในประการที่เป็นการจูงใจผู้ใดให้ละเมิดความลับอันเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน จำเลยทั้งสามได้ติดสินบนผู้ใด หรือจำเลยทั้งสามได้ข่มขู่ผู้ใด ฉ้อโกงผู้ใด ลักทรัพย์ของผู้ใด รับของโจรของผู้ใด หรือจำเลยทั้งสามกระทำการจารกรรมหรือใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดตามความหมายของ "การกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกัน" ตามบทบัญญัติมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 และมาตรา 35 คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70
  • พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3
  • พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 6
  • พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 35
  • พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

ผู้พิพากษา

ปริญญา ดีผดุง
นวลน้อย ผลทวี
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android