คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13535/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 24 มิ.ย. 2559 13:57:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ในการจัดทำแผนที่ประกอบด้วยการดำเนินการในขั้นตอนของการสำรวจ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์เรียบเรียง และเลือกใช้ข้อมูล แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมานำเสนออันเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบของแผนที่ แม้ถนน ซอย และสถานที่ต่างๆ ที่ลงในแผนที่จะเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง แต่ก็ต้องใช้ความอุตสาหวิริยะและความรู้ความสามารถในการสำรวจวัดระยะและจำลองรูปแผนที่โดยใช้มาตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รูปแผนที่ถูกต้องมีประโยชน์ในการใช้งานย่อมเป็นการสร้างสรรค์งานแผนที่ขึ้น อันเป็นงานศิลปกรรมอย่างหนึ่งและเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6 วรรคหนึ่ง และ 15 วรรคหนึ่ง
แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่า ว. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานแผนที่ดังกล่าวได้ลิขสิทธิ์มาจากการรับโอนจากผู้สร้างสรรค์งาน แตกต่างจากคำฟ้องที่บรรยายว่า ว. เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เอง แต่ข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันนี้เป็นเพียงรายละเอียดของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของ ว. เท่านั้น ศาลย่อมรับฟังข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
แผนที่ที่ ว. มีลิขสิทธิ์อยู่แต่เดิมที่ทำในปี 2529 คือแผนที่เอกสารหมาย จ.28 แต่ ว. โอนลิขสิทธิ์ให้ บ. ครั้งละ 10 ปี 2 ครั้ง เป็นเวลา 20 ปี โดยแต่ละครั้งที่สิ้นสุดกำหนดเวลาโอนลิขสิทธิ์ทำให้ ว. ได้ลิขสิทธิ์กลับคืนมานั้น ย่อมได้คืนเฉพาะงานแผนที่ที่ได้โอนไปแต่แรกตามเอกสารหมาย จ.28 เท่านั้น ส่วนแผนที่เพิ่มเติมที่ บ. ปรับปรุงย่อมไม่โอนไปยัง ว. เพราะไม่มีข้อตกลงให้โอนลิขสิทธิ์ส่วนที่สร้างสรรค์เพิ่มเติม เมื่อ ว. ได้ลิขสิทธิ์ในแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 กลับคืนมาแล้วโอนลิขสิทธิ์ต่อแก่โจทก์ โจทก์นำมาจัดพิมพ์เป็นแผนที่เอกสารหมาย จ.18 จึงมีส่วนที่เป็นแผนที่ดั้งเดิมตามเอกสารหมาย จ.28 อยู่ด้วยส่วนหนึ่งกับส่วนที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง โจทก์ย่อมมีลิขสิทธิ์โดยการรับโอนจาก ว. เฉพาะแผนที่ส่วนดั้งเดิมและย่อมมีอำนาจฟ้องเฉพาะส่วนดังกล่าว
แม้การทำแผนที่ออกมาเหมือนกัน โดยบุคคลคนละคนกันอาจเป็นเพราะเป็นการจัดทำจากสภาพพื้นที่ที่มีอยู่จริงโดยไม่ได้ลอกเลียนกันอันไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่หากการทำแผนที่เหมือนกันโดยใช้แผนที่ที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาเป็นต้นแบบในคัดลอก ทำซ้ำ หรือดัดแปลง ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เมื่อเปรียบเทียบแผนที่ที่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์กับแผนที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว พบส่วนที่คลาดเคลื่อนเหมือนกัน 3 รายการ ย่อมแสดงได้ว่าเป็นการลอกเลียนจากแผนที่ที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ แต่โจทก์มีลิขสิทธิ์เฉพาะงานแผนที่ที่สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ปี 2529 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลอกเลียนแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.18 ที่พัฒนามาจากแผนที่เอกสารหมาย จ.28 มาก จนไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการทำซ้ำโดยการคัดลอกงานแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 คงถือได้ว่าเป็นเพียงการดัดแปลงเท่านั้น
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เอง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายแผนที่ของตนก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่างานนั้นทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) เป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงบางส่วนของงานตามฟ้องจึงสมควรกำหนดโทษให้น้อยลงตามสมควรด้วย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26

ผู้พิพากษา

ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร
อร่าม เสนามนตรี
ปริญญา ดีผดุง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android