คำพิพากษาย่อสั้น
เมื่อจำเลยเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองมิใช่ศาลยุติธรรม ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นก่อนวันสืบพยาน เพื่อให้ศาลชั้นต้นจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองพิจารณาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 เมื่อจำเลยมิได้ดำเนินการแสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิพากษาคดีได้ และเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว จำเลยก็ไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้เนื่องจากเป็นการล่วงเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว
ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัท ต. ที่กำหนดให้บริษัท ต. ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ด้วยสัมภาระและค่าใช้จ่ายของบริษัท ต. แล้วส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้บริษัท ต. มีสิทธิเช่ามีกำหนดเวลา 15 ปี หรือจะนำบุคคลอื่นมาทำสัญญาเช่ากับโจทก์ก็ได้ โดยบริษัท ต. ต้องชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หากบริษัท ต. ผิดสัญญายอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันทีเช่นนี้ ถือว่ามีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่ในสัญญาดังกล่าว ข้อ 10 ยังได้ระบุไว้ชัดเจนว่าถ้าบริษัท ต. ผิดสัญญาข้อใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที เมื่อปรากฏว่าบริษัท ต. ค้างชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาข้อ 7 โจทก์ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่จำเลยเช่าช่วงอาคารพาณิชย์พิพาทจากบริษัท ต. และเข้าอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาที่ทำไว้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่บริษัท ต. โดยชอบแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในอาคารพาณิชย์พิพาทอีกต่อไป การที่จำเลยอยู่ต่อมาโดยโจทก์ไม่ยินยอมจึงเป็นละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
คดีนี้โจทก์ขอให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์เป็นรายเดือนพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากอาคารพาณิชย์พิพาท เมื่อศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์รายเดือนนับแต่วันถัดจากวันฟ้องอันเป็นค่าเสียหายในอนาคตให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่ควรจะได้รับแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าดอกเบี้ยในค่าขาดประโยชน์รายเดือนนับแต่วันถัดจากวันฟ้องอีก เพราะเป็นการซ้ำซ้อนกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าขาดประโยชน์รายเดือนนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง เป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247