คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3529/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 9 มี.ค. 2559 11:01:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ทั้งสองทำงานในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ ในคืนเกิดเหตุรถไถหายไป ด. พนักงานขับรถไถของจำเลยเข้างานช่วงเวลาเดียวกับโจทก์ทั้งสอง ด. จึงอยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งจำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับการทำงานว่า หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการต้องปฏิบัติตามคำบรรยายลักษณะงานที่กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ในข้อ 3.6 ให้ต้องตรวจสอบการทำงานของช่างขับ (พนักงานขับรถ) ให้ปฏิบัติตามกฎของจำเลย โดยจะต้องนำรถไถเข้าไปจอดภายในโรงงาน และตามระเบียบปฏิบัติ ข้อ 14 ให้ติดตามการทำงานของช่างขับอย่างใกล้ชิด และข้อ 15 ให้ติดตามผลเป้าหมายงานทุก ๆ ชั่วโมง แม้ ด. จะละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบ หากโจทก์ทั้งสองยึดถือระเบียบการทำงานอย่างเคร่งครัด โจทก์ทั้งสองก็จะทราบในทันทีก่อนรถไถหายไปว่า ด. ไม่นำรถไถเข้าไปเก็บไว้ในโรงงาน การกระทำของโจทก์ทั้งสองถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3)
ฟ้องแย้งจำเลยขอให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการขอให้ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดต่อจำเลย แต่การกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเรื่องดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจจะกระทำได้ ในปัญหานี้ศาลแรงงานภาค 2 ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงมาว่าโจทก์ทั้งสองก่อความเสียหายแก่จำเลยจำนวนคนละเท่าใด จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119

ผู้พิพากษา

ธีระยุทธ ทรัพย์นภาพร
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
ธีระพงศ์ จิระภาค

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android