คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 9 มี.ค. 2559 14:52:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การแสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรโรมัน SM ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 ย่อมทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรโรมัน SM แต่อักษรโรมัน SM ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ตามที่โจทก์จดทะเบียนไว้
การพิจารณาว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ๆ หรือไม่ยังต้องพิจารณาทั้งเครื่องหมาย ไม่ใช่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใด ดังนั้น แม้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า VITARAL S.M. ไวตารอล เอส.เอ็ม. ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว หรือ VITANA - EZ ที่อยู่ระหว่างการขอจดทะเบียน แต่เมื่อไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ก็ถือไม่ได้ว่า การใช้เครื่องหมายการค้า VITARAL S.M. ไวตารอล เอส.เอ็ม. หรือ VITANA - EZ เป็นการใช้เครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ไปด้วยเพราะต่างเครื่องหมายกัน การใช้หรือไม่ใช้เครื่องหมายการค้าใดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 63 จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือไม่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้ ไม่อาจอ้างการใช้เครื่องหมายการค้าอื่นกับสินค้าที่จดทะเบียนไว้มาเป็นการใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้
การที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 50 บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายชุดนั้นจะโอนหรือรับมรดกกันได้ ต่อเมื่อเป็นการโอนหรือรับมรดกกันทั้งชุด" นั้น เป็นเรื่องการโอนหรือสืบสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่โอนหรือตกทอดกันทางมรดกได้ ไม่ได้มีผลทำให้เครื่องหมายการค้าทั้งหมดของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน และไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่อาจถูกเพิกถอนตามกฎหมายเนื่องจากการไม่ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ เพราะความมุ่งหมายของกฎหมายนั้นเป็นไปเพื่อให้สิทธิและความคุ้มครองแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนที่มีการใช้เครื่องหมายนั้นกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ไม่ใช่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้เพียงเพื่อกีดกันผู้อื่น การจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดจึงไม่มีผลทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่จำต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายสำหรับเครื่องหมายการค้าแต่ละเครื่องหมาย
แม้ตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดจะใช้ข้อความสรุปว่าขอร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (1) เช่นกันก็ตาม แต่ตามเนื้อหาของคำร้องสอดอ้างเหตุผลว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่สั่งให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ของโจทก์ตามคำร้องขอของผู้ร้องสอดชอบแล้ว อันเป็นกรณีร้องขอเข้ามาในคดีเพราะตนมีส่วนได้เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) มิใช่กรณีตามมาตรา 57 (1) แต่อย่างใด และเป็นเรื่องต้องถือตามเนื้อหาแห่งคำร้องสอดดังกล่าวมาเป็นสำคัญ ซึ่งย่อมมิใช่กรณีที่ร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 50
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 63
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67

ผู้พิพากษา

วีระพล ตั้งสุวรรณ
อร่าม เสนามนตรี
ไมตรี ศรีอรุณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android