คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 29 มี.ค. 2559 11:44:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้ลงโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้เฉพาะวรรคในมาตรา 66 และแก้โทษด้วยนั้น โดยความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงต่างกันมาก ซึ่งความผิดตามวรรคหนึ่งนั้น มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงสิบห้าปี หรือปรับขั้นต่ำแปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท แต่วรรคสองมีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงจำคุกตลอดชีวิต และปรับขั้นต่ำสี่แสนบาท ขั้นสูงห้าล้านบาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้วรรคและแก้โทษในกรณีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 นั้น เป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218
เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองมีจำนวน 50 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.10 กรัม จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง
โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ได้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวมาใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับสายลับ โดยติดต่อนัดหมายเวลาและสถานที่ในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่น ซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 จึงให้ริบ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
  • พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15
  • พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102

ผู้พิพากษา

ศรีอัมพร ศาลิคุปต์
นพพร โพธิรังสิยากร
สุทธิโชค เทพไตรรัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android