คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16263/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 5 ม.ค. 2559 08:11:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2539 มาตรา 42 กำหนดผู้รับผิดไว้คือ บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานซึ่งหมายความรวมถึงบุคคลผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในกิจการงานที่ตนต้องรับผิดชอบ มิได้หมายถึงเฉพาะเพียงแต่ผู้แทนของนิติบุคคล ผู้มีอำนาจหน้าที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือรับรองการจดทะเบียนของนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการฝ่ายยานยนต์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการบำรุงรักษาซ่อมแซมรถยนต์ จัดเตรียมสัญญาซื้อขาย จัดทำสัญญาเช่าพร้อมเอกสารประกอบ รวมทั้งทำหลักฐานการตรวจสภาพและการรับมอบรถ งานในหน้าที่ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 จึงเป็นงานส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่จะต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้เสียหายตามบทกฎหมายดังกล่าว
การกระทำในวันเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันอาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ หากลักษณะของความผิดเป็นการกระทำที่มีเจตนาแตกต่างกัน ต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ และเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกรรมกัน การที่จำเลยที่ 2 ลงแบบฟอร์มกับบันทึกข้อมูลรถยนต์ใหม่ลงในแฟ้มข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์และการทำสัญญาเช่า เป็นการกระทำต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ และเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ผู้พิพากษา

ธีระพงศ์ จิระภาค
วัส ติงสมิตร
ถมรัตน์ เลิศไพรวัน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android