คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14973/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 10 ก.พ. 2558 15:45:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เนื้อหาและเจตนารมณ์ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและข้อบังคับของโจทก์ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานั้น ไม่ได้มีเพียงในเรื่องสิทธิคู่สัญญาที่จะได้รับการจ่ายไฟฟ้าให้ถูกต้องและการได้รับชำระเงินค่าไฟฟ้าที่ครบถ้วนเท่านั้น แต่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยังมีหน้าที่และความรับผิดเรื่องอื่นอีก โดยโจทก์ยังมีหน้าที่และความรับผิดด้านการดูแลการจ่ายไฟให้ถูกต้องและปลอดภัยตามวิสัยและพฤติการณ์ของผู้ประกอบการ ให้บริการสาธารณะด้านการจ่ายไฟฟ้า ส่วนจำเลยก็ยังมีหน้าที่และความรับผิดในฐานะผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลสถานที่ใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นฝ่ายที่รู้เห็นเพียงฝ่ายเดียวเกี่ยวกับพฤติการณ์การใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในฐานะความเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือผู้ดูแลบ้านที่ใช้ไฟฟ้าตามสัญญาที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้ในข้อบังคับของโจทก์ข้อ 36 จึงตกลงกันไว้ชัดเจนว่า ถ้าผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้บอกเลิกการใช้ไฟฟ้า แต่มีผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า ให้ถือว่าผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันในการชำระค่าไฟฟ้า เมื่อจำเลยซึ่งรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายบ้านของตนแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยตามสภาพปกติแล้วโจทก์ไม่อาจรู้ข้อเท็จจริงนี้ได้ จำเลยจึงต้องอยู่ในฐานะคู่สัญญาที่ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญาให้ครบถ้วน การที่จำเลยไม่ดำเนินการบอกเลิกใช้ไฟฟ้าตามสัญญา แล้วต่อมามีผู้ใช้วิธีการตัดสายเช็คศูนย์ทางด้านไฟฟ้าเข้าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่บริเวณหัวเสาหน้าบ้าน และมีการนำไฟฟ้าเข้าไปใช้กับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านใช้ไฟฟ้าไปทั้งสิ้น 64,108 หน่วย แต่เครื่องวัดไฟฟ้าของจำเลยอ่านได้เพียง 29,660 หน่วย ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับชำระค่าไฟฟ้าตามที่ควรได้รับตามปกติ จำเลยจึงต้องรับผิดตามเงื่อนไขแห่งสัญญาดังกล่าว
การฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายเท่ากับค่าไฟฟ้าที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริง เป็นการฟ้องให้ชำระหนี้ให้ถูกต้องโดยโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชนอันมีลักษณะเป็นกิจการสาธารณูปโภค ไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าที่จะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่ตกลงทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาให้ครบถ้วนเป็นเหตุให้มีผู้อื่นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเท่ากับค่าไฟฟ้าส่วนที่ขาดที่พึงได้ตามปกติ ซึ่งมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ผู้พิพากษา

ชัยยุทธ ศรีจำนงค์
ศรีอัมพร ศาลิคุปต์
สมชาติ ธัญญาวินิชกุล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android