คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19480/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 5 เม.ย. 2559 16:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ถือเป็นการตรวจสอบบรรดาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยภาครัฐเพื่อการควบคุมและกำกับดูแลว่าเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเครื่องหมายอันพึงรับจดทะเบียนได้หรือไม่ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ถึง 8 ทั้งนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคมิให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า และรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจตรวจสอบความถูกต้องชอบด้วยกฎหมายของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนในชั้นต้นว่าเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้หรือไม่ และอาจมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 ถึง 17 เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งใด ๆ ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวแล้ว ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ตามมาตรา 18 อันเป็นการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำขอจดทะเบียนในชั้นที่สูงขึ้น ซึ่งในบทบัญญัติตามมาตรา 96 (1) ให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจและหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมาตรา 101 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ากำหนด และตามระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ข้อ 18 กำหนดให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจพิจารณาทบทวนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายและจะพิจารณาวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ได้ เห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายประสงค์ให้อำนาจแก่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในการวินิจฉัยเกี่ยวกับความถูกต้องชอบด้วยกฎหมายของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนนั้นว่าเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนตามกฎหมายได้หรือไม่ เช่นเดียวกันกับการวินิจฉัยในชั้นของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า มิได้ถูกจำกัดให้ต้องพิจารณาเฉพาะประเด็นที่มีการยกขึ้นโต้แย้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมิฉะนั้นแล้วจะทำให้กลไกในการตรวจสอบในชั้นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีประสิทธิภาพและต้องถูกจำกัดโดยคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือผู้ยื่นคำขอซึ่งไม่น่าจะใช่เจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนี้ เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ย่อมมีอำนาจให้ระงับการจดทะเบียนได้
เครื่องหมายการค้าคำว่า CLAIROL HERBAL ESSENCES เป็นการใช้กลุ่มของคำในอักษรโรมันอย่างเดียวกับที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในลักษณะประดิษฐ์ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว ผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า CLAIROL HERBAL ESSENCES ได้มีการจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก มียอดขายปีละหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในประเทศไทยมีวางจำหน่ายในร้านค้าทั่วไปทั้งร้านขนาดย่อมและขนาดใหญ่รวมถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักกว้างขวางและทำให้เข้าถึงผู้บริโภคง่าย โจทก์ได้ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์ CLAIROL HERBAL ESSENCES อย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี ผ่านสื่อต่าง ๆ หลายรูปแบบ ทำให้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า CLAIROL HERBAL ESSENCES ในลักษณะประดิษฐ์ ที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วยังได้รับการจดแจ้งให้เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามมาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ในส่วนแชมพู CLAIROL HERBAL ESSENCES ครองตลาดแชมพูเพื่อความสวยงามในอันดับที่ 7 มียอดขายปีละประมาณ 300,000,000 บาท เครื่องหมายการค้าคำว่า CLAIROL HERBAL ESSENCES ของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าที่มีการจำหน่าย เผยแพร่ และโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควรจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าของบุคคลอื่น อันถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้อันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 โดยโจทก์ไม่ต้องแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า HERBAL ESSENCES
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 96
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 101
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7

ผู้พิพากษา

ไมตรี ศรีอรุณ
อร่าม เสนามนตรี
วีระพล ตั้งสุวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android