คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11925/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 15 มิ.ย. 2558 09:56:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
หลังจากเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 3 ได้พร้อมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฬ - 2678 กรุงเทพมหานคร แล้ว จึงให้จำเลยที่ 3 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 4 เพื่อนัดรับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ - 9961 กรุงเทพมหานคร การที่จำเลยที่ 4 นำใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ - 9961 กรุงเทพมหานคร มาส่งให้แก่จำเลยที่ 3 ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งทำนั้น ถือว่าเป็นการใช้เอกสารราชการใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ - 9961 กรุงเทพมหานคร แล้ว
ในวันรุ่งขึ้นหลังการจับกุมจำเลยที่ 4 พนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การจำเลยที่ 4 และในชั้นพิจารณาที่จำเลยที่ 4 เบิกความต่อศาล จำเลยที่ 4 ไม่เคยกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 4 รับราชการทหาร ทั้งขณะฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยที่ 4 รับราชการทหาร ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้
การที่จำเลยที่ 4 ปลอมหนังสือแสดงการจดทะเบียนของรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 - 0409 กรุงเทพมหานคร กับปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของรถบรรทุกส่วนบุคคลดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 4 มีเจตนาอย่างเดียวกันคือ เพื่อนำไปใช้หรือแสดงต่อผู้พบเห็นว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องเพื่อจะได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าวโดยชอบ การกระทำของจำเลยที่ 4 ในส่วนนี้จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
แม้ตรายางที่ยึดได้ภายในรถยนต์ของจำเลยที่ 4 บางอันจะไม่ใช่ตรายางที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้ในการกระทำความผิดคดีนี้ แต่ตรายางที่ยึดได้นั้น เห็นได้ชัดว่า เป็นอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารราชการของกรมการขนส่งทางบกโดยเฉพาะ จึงต้องริบตรายางทั้ง 25 อัน ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268

ผู้พิพากษา

ชัยยุทธ ศรีจำนงค์
ศรีอัมพร ศาลิคุปต์
สมชาติ ธัญญาวินิชกุล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android