คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6938/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 31 ส.ค. 2559 21:35:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" และเครื่องหมายการค้าตัวอักษร "AR" และคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมทั้งสามเครื่องหมายดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้านั้นว่าเหมือนกันหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ ปรากฏว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 ก่อนที่ บ. จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 เป็นเวลานานเกือบ 28 ปี และก่อนที่ บ. มาจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตัวอักษร "AR" และคำว่า "ARON" เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 เป็นเวลานานถึง 31 ปี 2 เดือนเศษ แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมคำว่า "ARON" จะเขียนตัวอักษร "A" ติดกับตัวอักษร "R" และตัวอักษร "O" ติดกับตัวอักษร "N" และมีตัวอักษร "R" แตกต่างจากตัวอักษร "V" ในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ก็ตาม แต่ตัวอักษร "A, O และ N" ในเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกับตัวอักษร "A, O และ N" ในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์และตัวอักษร "A, O และ N" ในเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมก็มีลักษณะการเขียนที่มองเห็นได้ว่าเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกับตัวอักษร "A, O และ N" ในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ หากประชาชนผู้ซื้อสินค้าของจำเลยร่วมและสินค้าของโจทก์ไม่สังเกตความแตกต่างของเครื่องหมายการค้าทั้งสองที่มีตัวอักษรแตกต่างกันเพียงตัวอักษรเดียวให้ดีพอ ย่อมเกิดความสับสนและหลงผิดในการซื้อสินค้าไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ซื้อได้ แม้สำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมจะอ่านว่า "อารอน" หรือ "อาร่อน" ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์จะอ่านว่า "เอวอน" หรือ "เอว่อน" ก็เป็นสำเนียงเรียกขานที่คล้ายกัน ไม่ถึงกับแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซื้อที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศโอกาสที่จะเรียกขานเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมคลาดเคลื่อนไปโดยอ่านว่า "เอรอน" หรือ "เอร่อน" ได้ เมื่อนำเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมไปใช้กับสินค้าลิปสติกตามที่จำเลยร่วมขอจดทะเบียนไว้ซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันกับสินค้าลิปสติกของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" เพื่อใช้กับสินค้าของโจทก์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดแก่ผู้ซื้อในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ส่วนเครื่องหมายการค้าตัวอักษร "AR" และคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมแม้จะมีตัวอักษร "AR" ในลักษณะอักษรประดิษฐ์รวมอยู่ในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวด้วย แต่ก็เป็นเพียงส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้านั้นไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า ส่วนที่เป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่คำว่า "ARON" ซึ่งมีตัวอักษร "A, O และ N" อยู่ในตำแหน่งเดียวกับตัวอักษร "A, O และ N" ในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ ทั้งลักษณะการเขียนคำว่า "ARON" ก็สามารถมองเห็นได้ว่ามีลักษณะเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ การที่ บ. ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยเพิ่มตัวอักษรประดิษฐ์ "AR" เข้าไปด้วยยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ซื้อสินค้าเห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ จนไม่เกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อนำเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมไปใช้กับสินค้าครีมทาผิว และไปใช้กับสินค้าแป้งทาหน้า อายแชโดว์ ดินสอเขียนคิ้ว ดินสอเขียนขอบตา โฟมล้างหน้า ครีมล้างหน้า ครีมนวดหน้า ครีมทากันแดด น้ำหอม และน้ำหอมดับกลิ่นที่ บ. ขอจดทะเบียนไว้ซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า ครีมทาตัวและทาหน้า แป้ง อายแชโดว์ เครื่องสำอางใช้เขียนขอบปาก เครื่องสำอางใช้เขียนขอบตา เครื่องสำอางใช้ทำความสะอาดใบหน้า และเครื่องสำอางระงับกลิ่นตัวของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" เพื่อใช้กับสินค้าของโจทก์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดแก่ผู้ซื้อในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ การที่ บ. ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 เพื่อใช้กับสินค้าลิปสติกซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 อันเป็นการที่ บ. ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวหลังจากที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" เป็นเวลานานถึง 28 ปีเศษ กับการที่ บ. ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำนวน 2 คำขอเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 ตามลำดับ เพื่อใช้กับสินค้าครีมทาผิว และเพื่อใช้กับสินค้า แป้งทาหน้า อายแชโดว์ ดินสอเขียนคิ้ว ดินสอเขียนขอบตา โฟมล้างหน้า ครีมล้างหน้า ครีมนวดหน้า ครีมทากันแดด น้ำหอม และน้ำหอมดับกลิ่น ตามลำดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 อันเป็นการที่ บ. ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอจำนวน 2 คำขอดังกล่าวหลังจากที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" เป็นเวลานานถึง 31 ปีเศษ นั้น เป็นการที่ บ. ได้อาศัยชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าประเภทเครื่องสำอางสำหรับสตรีมาเป็นเวลานานจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย แล้วเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์โดยเปลี่ยนเพียงตัวอักษร "V" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวอักษร "R" ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมและนำไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำนวน 3 คำขอประกอบกับปรากฏว่าสินค้าของโจทก์และสินค้าของจำเลยร่วมที่เป็นลูกกลิ้งน้ำหอมระงับกลิ่นกายอันเป็นสินค้าเครื่องสำอางระงับกลิ่นตัวที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ชนิดเดียวกับสินค้าน้ำหอมดับกลิ่นที่จำเลยร่วมได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมจำนวน 7 แบบ จำนวน 7 สี มีลักษณะเป็นขวดพลาสติกขนาดเท่ากัน ฝาปิดขวดเหมือนกัน ขวดมีสีเดียวกัน รอบขวดพลาสติกมีข้อความต่าง ๆ ที่เป็นตัวอักษรอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" และคำว่า "ARON" วางอยู่ในตำแหน่งเดียวกันและเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เหมือนกัน ตลอดจนใช้สีของตัวอักษรเหมือนกัน กล่าวคือ ขวดบรรจุสินค้าสีน้ำตาลของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" กับคำว่า "ARON" อยู่บนฝาขวดภายในรูปวงกลมในตำแหน่งเดียวกัน มีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบนของขวดอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ถัดลงมาใช้รูปหัววัวในรูปวงกลมที่กลางขวดเหมือนกันโดยขวดมีคำว่า "AVON WILD COUNTRY" เขียนภายในวงกลมล้อมรอบรูปหัววัว ส่วนขวดสินค้าของจำเลยร่วมมีคำว่า "ARON NEW COUNTRY" เขียนภายในวงกลมล้อมรอบรูปหัววัว และมีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" อยู่ใต้รูปหัววัวเหมือนกันและที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีแดงของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นตัวอักษร "a" ในวงกลมเหมือนกัน ใต้อักษร "a" ดังกล่าว ขวดสินค้าของโจทก์มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ส่วนขวดสินค้าของจำเลยร่วมเป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" และของโจทก์มีข้อความว่า "ariane ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" ส่วนของจำเลยร่วมมีข้อความว่า "aria ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" ซึ่งมีข้อความคล้ายคลึงกันมาก และที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีม่วงของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นรูปผีเสื้อกำลังบินคล้ายกัน ใต้รูปผีเสื้อขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "Butterfly" ส่วนขวดสินค้าของจำเลยร่วมเป็นคำว่า "Beautiful" และถัดลงมาของโจทก์มีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" ส่วนของจำเลยร่วมมีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" เหมือนกันและที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมมีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีชมพูของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นรูปดอกไม้สีเหลืองคล้ายกัน ด้านข้างดอกไม้สีเหลืองในแนวดิ่งของโจทก์มีคำว่า "Sweet Honesty" ส่วนของจำเลยร่วมใต้รูปดอกไม้สีเหลืองมีคำว่า "ARON Sweet Harmony" และของโจทก์มีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" ส่วนของจำเลยร่วมมีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" เหมือนกัน และที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมมีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีฟ้าของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นคำว่า "pretty Blue" กับคำว่า "Lovable Blue" คล้ายกัน และถัดลงมาที่ด้านล่างสุดมีข้อความ "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" เหมือนกัน ส่วนที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีขาวของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นคำว่า "AVON" กับคำว่า "ARON" ใต้คำว่า "AVON" มีคำว่า "feelin' fresh" พร้อมรูปใบไม้ในกรอบสี่เหลี่ยมและคำว่า "white" ส่วนใต้คำว่า "ARON" มีคำว่า "feel fresh" พร้อมกับรูปเส้นโค้งสามเส้นคล้ายปลายใบไม้ในกรอบสี่เหลี่ยมและคำว่า "Whitening" คล้ายกัน และถัดลงมาที่ด้านล่างสุดมีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" เหมือนกัน ส่วนที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า และรอบขวดบรรจุสินค้าสีดำของโจทก์และของจำเลยร่วม มีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบน ถัดลงมาของโจทก์เป็นคำว่า "BLACK SUEDE" ในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนของจำเลยร่วมเป็นคำว่า "BLACK SUEZ" ในกรอบสี่เหลี่ยมคล้ายกัน และถัดลงมาที่ด้านล่างสุดมีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" เหมือนกัน ส่วนที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า การที่จำเลยร่วมได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" กับสินค้าลูกกลิ้งน้ำหอมระงับกลิ่นกายดังกล่าว โดยไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า ตามที่ได้จดทะเบียนไว้กับสินค้าดังกล่าวโดยทำให้ขวดบรรจุสินค้าคล้ายกับขวดบรรจุสินค้าของโจทก์ดังกล่าว ซึ่งหากประชาชนผู้ซื้อไม่สังเกตให้ดีและไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษย่อมสับสนและหลงผิดซื้อสินค้าไม่ตรงตามความประสงค์ของผู้ซื้อได้ การกระทำดังกล่าวของจำเลยร่วมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยร่วมอย่างแจ้งชัดว่าจำเลยร่วมประสงค์ที่จะอาศัยชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์โดยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" เพื่อประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของตน ซึ่งโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียผู้มีสิทธิขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมทั้งสามเครื่องหมายดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61 (4) ได้
ตามหนังสือแจ้งคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าระบุว่า โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 27 มิถุนายน 2550 จึงเป็นการฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65

ผู้พิพากษา

ปริญญา ดีผดุง
อร่าม เสนามนตรี
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android