คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22195/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 18 ส.ค. 2557 13:16:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เหตุเกิดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงวันฟ้องคดีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงยังมีสิทธิได้รับความคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าในวันเกิดเหตุคดีนี้ จึงมีอำนาจฟ้อง
สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 คือ คำว่า I - VISON ซึ่งเครื่องหมายการค้าของฝ่ายโจทก์มีรูปวงรีแบบเปิดอยู่เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติม และเครื่องหมายการค้าของฝ่ายจำเลยที่ 1 มีคำว่า by SAMART เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมเช่นกัน ดังนั้น หากเมื่อพิจารณาในส่วนอักษรโรมัน I และคำว่า VISION แล้ว รูปลักษณะเครื่องหมายทั้งสองมีถ้อยคำสาระสำคัญเหมือนกันและเสียงเรียกขานเป็นอย่างเดียวกัน บุคคลธรรมดาทั่วไปหากไม่ใช้ความสังเกตย่อมมีความเห็นไปได้ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตัวอักษรโรมัน I และคำว่า VISION ต่างเป็นถ้อยคำสามัญ โจทก์ไม่มีสิทธิหวงกันเอาไว้ใช้เพียงผู้เดียว และโจทก์ยังได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน I แล้ว เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ได้ดัดแปลงประดิษฐ์ตัวอักษร S ตรงกลางเครื่องหมาย และยังเพิ่มคำว่า by SAMART ด้านล่างของเครื่องหมาย เพื่อให้แตกต่างจากของโจทก์ และหากจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะแสวงหาประโยชน์ในการใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับของโจทก์แล้วก็ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะอ้างอิงแสวงหาประโยชน์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นอกจากนี้การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้จะอยู่ระหว่างอุทธรณ์แต่ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีข้อโต้เถียงเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือคำว่า ว่า I - VISION ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 โดนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 มีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 83
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109

ผู้พิพากษา

รัตน กองแก้ว
อร่าม เสนามนตรี
อร่าม แย้มสอาด

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android