คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15911/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 2 ต.ค. 2557 13:12:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทของจำเลยที่ 1 โดยติดต่อกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ไปเกินอำนาจหรือนอกขอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมาย โดยขายต่ำกว่าราคาต้นทุน และไม่มีอำนาจรับเงินแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ทางปฏิบัติของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการมีมูลเหตุอันสมควรที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทน ที่ให้ส่วนลดและของแถมแก่ลูกค้าและมีอำนาจรับเงินแทนจำเลยที่ 1 อยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนดังเช่นที่จำเลยที่ 2 เคยรับเงินค่าจองรถยนต์จาก พ. ไปแล้ว ไม่มีปัญหาอย่างใด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปภายในขอบอำนาจของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 และเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกับโจทก์โดยเห็นแก่อามิสสินจ้างตามมาตรา 825 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติมาตรา 823 และมาตรา 825 เพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดตามที่ฎีกาได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระราคารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยครบถ้วนและโดยสุจริตแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์และมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 825

ผู้พิพากษา

ชัยวุฒิ โลหชิตรานนท์
เกษม เกษมปัญญา
อนันต์ วงษ์ประภารัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android