คำพิพากษาย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา จะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ต่อเมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม หากไม่ชำระให้บังคับทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดแทน แล้วต่างตกลงกันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีข้อความว่า "ข้อ 1. จำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นหนี้ตามโจทก์ฟ้องจริง และจะชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ย...นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน ข้อ 2. โจทก์ตกลงว่าหากจำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน 8,570,000 บาท และค่าฤชาธรรมเนียม...ภายใน 60 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความถือเป็นการชำระเสร็จสิ้น... ข้อ 3. หากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดชำระทั้งหมด ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวใน ข้อ 2. และยินยอมให้โจทก์บังคับคดี..." ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าเนื้อความในสัญญา ข้อ 3. ทั้งหมดเป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้ตามสัญญา ข้อ 1. และหรือ ข้อ 2. โดยจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอบังคับในฟ้อง ข้อความในวรรคที่ว่า "ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้อง" เป็นสาระสำคัญ ส่วนข้อความต่อเนื่องที่ว่า "ดังกล่าวใน ข้อ 2." เป็นเพียงพลความ หากถือว่ามิใช่พลความ ข้อความในวรรคนี้ทั้งหมดจะขัดแย้งจนหาสาระไม่ได้ เพราะจำนวนหนี้ตามสัญญา ข้อ 2. มิใช่จำนวนหนี้ทั้งหมดในฟ้องนั่นเอง แสดงว่า ที่ถูกต้องข้อความในวรรคนี้พึงเป็นข้อความว่า "ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวใน ข้อ 1." ดังนั้น ที่โจทก์ขอให้แก้ไขคำพิพากษาเฉพาะส่วนในข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3. ในวรรคดังกล่าวตรงท้ายวรรคจาก 2 เป็น 1 ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ศาลพึงมีคำสั่งแก้ไขให้ถูกต้องได้