คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8761/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 7 ม.ค. 2557 10:35:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าขนส่งจากผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเพื่อนำไปจ่ายให้แก่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ผู้รับตราส่ง เพื่อแลกใบปล่อยสินค้าที่จำเลยที่ 5 ออกให้แก่จำเลยที่ 3 มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าขนส่งเป็นของตนเองในฐานะผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงตัวแทนของผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยในการไปติดต่อผู้ขนส่งเท่านั้นไม่ใช่ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ขนส่ง
จำเลยที่ 5 เป็นผู้ออกใบตราส่งแบบ FCL/FCL หรือ CY/CY ให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับใบตราส่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นใบตราส่งแบบ CFS/CFS จะเห็นได้ว่า ใบตราส่งของจำเลยที่ 2 ที่รับขนส่งสินค้าระบบตู้สินค้าแบบ CFS/CFS อันหมายถึงสินค้าบรรจุไม่เต็มตู้โดยมีการบรรจุสินค้าหลายเจ้าของรวมทั้งสินค้า 3 พัลเล็ต นี้ด้วย และปิดผนึกตู้สินค้าที่ท่าต้นทางแล้วมอบให้จำเลยที่ 5 ขนส่ง จำเลยที่ 5 จึงออกใบตราส่งแบบ FCL/FCL หรือ CY/CY ให้ โดยรับตู้สินค้าที่บรรจุเต็มตู้มา โดยระบุชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ส่ง และจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับตราส่ง มีผลให้จำเลยที่ 4 ต้องมารับตู้สินค้านี้ไปเองเพื่อนำไปเปิด แล้วนำสินค้าไปส่งแก่ลูกค้าแต่ละราย ซึ่งเมื่อเรือถึงปลายทางจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับตราส่งมารับของในนามของจำเลยที่ 3 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 เป็นเพียงตัวแทนมารับของที่ปลายทางเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งจึงไม่ต้องรับผิด ส่วนจำเลยที่ 5 ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของโดยตรง แต่ได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าทางทะเลเฉพาะช่วงจากท่าเรือในสาธารณรัฐสิงคโปร์มายังประเทศไทย จึงเป็นผู้ขนส่งอื่นตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 ซึ่งจะต้องรับผิดต่อเมื่อเหตุแห่งความสูญหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งในส่วนที่ตนได้รับมอบหมายตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 44 ประกอบมาตรา 39 เมื่อตัวแทนของจำเลยที่ 3 เป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าและปิดผนึกด้วยตราผนึก เมื่อถึงปลายทางตู้สินค้าและตราผนึกที่ตู้สินค้ายังคงเดิมและอยู่ในสภาพดี แสดงว่าระหว่างการขนส่งสินค้าโดยจำเลยที่ 5 นั้น ตู้สินค้าไม่ได้ถูกเปิดและขนถ่ายสินค้าออกจากตู้จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าสินค้าไม่ได้สูญหายระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 5 ตามที่ได้รับมอบหมายให้ขนส่ง จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ขนส่งอื่นไม่ต้องรับผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว
ตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์รับประกันภัยสินค้าเป็นมูลค่า 51,338.76 ยูโร คิดเป็นเงินบาทตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ 2,620,843.70 บาท โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร เท่ากับ 51.05 บาท และเมื่อสินค้าเสียหายเป็นเงิน 14,848 ยูโร ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยคิดคำนวณเป็นเงินบาทเป็นสัดส่วนกับมูลค่าประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัย เป็นเงิน 871,688.96 บาท เท่ากับที่โจทก์คิดคำนวณได้และจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เชื่อได้ว่าเป็นการคิดคำนวณถูกต้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนดังกล่าว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 44

ผู้พิพากษา

ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร
อร่าม เสนามนตรี
ปริญญา ดีผดุง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android