คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9039/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 30 ต.ค. 2556 11:09:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ว่า เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เป็นกรณียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 42 (17) ซึ่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการสำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ข้อ 1 (1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับ กำหนดว่า กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 52) ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วดังกล่าว มิได้มีบทบังคับเด็ดขาดว่ากรณีเกษียณอายุจะต้องเป็นกำหนดเวลาทำงานที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เวลาที่ลูกจ้างเริ่มเข้าทำงานแต่อย่างใด จึงไม่อาจขยายความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรได้ แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 จะกำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 26 คือ พนักงานคนใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็ตาม แต่การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลังอันมีผลให้กำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง หาใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 52) แล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 58 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคลธรรมดา
มาตรา 63 แห่ง ป.รัษฎากร บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้ว ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไปนั้น เป็นกรณีผู้นั้นมีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีมาโดยตลอดตั้งแต่ต้น คดีนี้เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประจำปีภาษี 2547 นั้น ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 52) ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 151) ลงวันที่ 16 มกราคม 2549 และ (ฉบับที่ 158) ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2549 ตามลำดับ ทั้ง (ฉบับที่ 151) ยังระบุให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำ พ.ศ.2537 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ.2538 เป็นต้นไป อันเป็นการยกเว้นให้ย้อนหลังไปถึงเงินได้ที่ไม่อาจยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไปด้วย ซึ่งอาจไร้ผลหรือก่อผลประหลาดหากจะบังคับให้เป็นไปตามมาตรา 63 ดังนั้น เมื่อเงินได้ของโจทก์ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในคดีนี้ได้รับผลย้อนหลังตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 151) จึงต้องคืนเงินภาษีอากรให้แก่โจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 42
  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มาตรา 42

ผู้พิพากษา

เกษม เกษมปัญญา
สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์
จินดา ปัณฑะโชติ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android