คำพิพากษาย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนและเป็นผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างถนนกาญจนาภิเษกจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างและเป็นเจ้าของโครงการ วันเกิดเหตุ อ. ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปตามถนนกาญจนาภิเษกบริเวณซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ โดยทางเดินรถช่องขวาสุดกำลังก่อสร้างทางมีลักษณะเป็นทางต่างระดับกับทางปกติ และมีวัสดุอุปกรณ์วางเกะกะอยู่ โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ติดตั้งสัญญาณและไฟส่องสว่าง เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะทราบ เป็นเหตุให้ อ. ขับรถเฉี่ยวชนวัสดุก่อสร้างจนรถยนต์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาโดยละเอียดแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว แม้ตามสำเนารายงานประจำวันเอกสารท้ายฟ้องจะระบุว่าขณะเกิดเหตุ อ. ขับรถมาในช่องทางเดินรถซ้ายสุดแตกต่างจากที่ระบุในฟ้อง แต่คำฟ้องโจทก์อยู่ในวิสัยที่จำเลยทั้งสองสามารถเข้าใจได้ว่า รถยนต์คันเกิดเหตุชนกับวัสดุก่อสร้างในช่องเดินรถด้านขวาซึ่งเป็นทางต่างระดับ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การที่จำเลยที่ 1 ไม่ติดตั้งเครื่องหมายหรือสัญญาและไฟส่องสว่าง เพื่อให้ผู้ขับขี่รถยนต์ในเวลากลางคืนมีโอกาสเห็นถนนที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ เป็นเหตุให้ อ. ขับรถชนแท่งเหล็กที่จำเลยที่ 1 วางไว้ จนได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างและเป็นเจ้าของโครงการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลจำเลยที่ 1 ในการก่อสร้าง แต่ละเลยไม่ควบคุมดูแล ถือเป็นความประมาทของจำเลยที่ 2 ร่วมด้วย แม้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างจะกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบในการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ก็เป็นเรื่องตกลงกันภายในระหว่างจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าวด้วย
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย เพราะโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 บัญญัติว่า หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด ดังนั้น โจทก์ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าซ่อมรถครั้งสุดท้ายได้