คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4496/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 25 เม.ย. 2556 13:53:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ข้อจำกัดในอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8 ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องอุทธรณ์การประเมิน ซึ่งในคดีนี้ แม้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติให้ต้องอุทธรณ์การประเมินภายใน 30 วัน ก็ตาม แต่ปัญหาในเรื่องที่ว่าคำสั่งให้ประเมินภาษีแก่โจทก์อันเป็นคำสั่งทางปกครองมีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 หรือไม่ เป็นคนละกรณีกับความถูกต้องของการประเมินภาษี ดังนี้ ปัญหาในเรื่องรูปแบบของคำสั่งทางปกครองดังกล่าวย่อมไม่อยู่ในบังคับที่ต้องยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้มีข้อบกพร่องในการระบุเหตุผล แต่ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งเหตุผลเพิ่มเติมถึงโจทก์ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยหลายเดือนถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง และมาตรา 41 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสามแล้ว หนังสือแจ้งการประเมินจึงสมบูรณ์แล้ว
ในคำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์เพียงโต้แย้งในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนดอกเบี้ย โดยมิได้โต้แย้งว่ามิใช่เงินได้ที่โจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังที่โจทก์ยกขึ้นอ้างใหม่ในคำฟ้อง ย่อมไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ในส่วนนี้ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องโดยยกเหตุดังกล่าวเป็นข้ออ้างต่อศาลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8
การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้น มิใช่เป็นการตั้งประเด็นขึ้นใหม่แต่เป็นการคิดคำนวณภาษีใหม่ให้ถูกต้อง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้นให้ถูกต้องได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 31 วรรคสอง
ตามสัญญาซื้อขาย คู่สัญญาตกลงให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าไปยังผู้ซื้อแล้ว แต่ผู้ซื้อขอให้ผู้ขายเก็บรักษาสินค้าและจัดส่งให้ผู้ขายในภายหลัง จึงเป็นการขายภายในประเทศ มิใช่การขายโดยส่งออก และตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์มิได้ส่งสินค้าทั้งหมดออกไปนอกราชอาณาจักร โจทก์ส่งสินค้าส่วนหนึ่งให้แก่บริษัทอื่นโดยส่งไปที่เขตอุตสาหกรรมการส่งออก (EPZ) ตามคำสั่งของผู้ซื้อ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่กรรมสิทธิ์ในสินค้าได้โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว ทั้งตามลักษณะดังกล่าวก็เป็นเรื่องการส่งออกของผู้ซื้อให้แก่บริษัทอื่นอีกด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ขายสินค้าโดยส่งออกตาม ป.รัษฎากร มาตรา 78 (4) ที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) หากแต่เป็นการขายสินค้าที่ได้โอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าก่อนการส่งมอบตามมาตรา 78 (1) (ก) ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 80 (1) แม้ต่อมาโจทก์ส่งสินค้าบางส่วนไปยังเขตอุตสาหกรรมการส่งออก (EPZ) ในเดือนกันยายน 2545 ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (6) เพราะความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นก่อนแล้วในวันที่โอนกรรมสิทธิ์ในสินค้า
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 30
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 78
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 80
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 80/1
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37
  • พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 40
  • พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 41
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 31

ผู้พิพากษา

ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร
สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์
โสฬส สุวรรณเนตร์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android