คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 3 ม.ค. 2557 14:40:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เหตุที่โจทก์ที่ 1 เข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแฟรนไชส์กับจำเลยเป็นเพราะโจทก์ที่ 1 เชื่อในคำโฆษณาของจำเลยว่า โจทก์ที่ 1 จะได้ซื้อสินค้าในราคาถูกกว่าทั่วไปและได้รับการส่งสินค้าตรงเวลา เป็นสินค้าที่เป็นที่นิยม 4 ยี่ห้อ เป็นอะไหล่แท้จากโรงงาน รายได้ของแต่ละสาขาต่อเดือนอยู่ที่จำนวน 500,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท อัตราส่วนกำไรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว และมีการบริหารจัดการแฟรนไชส์ที่ดี แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจะมิได้ระบุข้อตกลงเกี่ยวกับราคาสินค้า ความหลากหลายของสินค้าและการส่งสินค้าให้ถูกต้องก็ตาม แต่การโฆษณาของจำเลยดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 เข้าใจได้ในขณะเข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับจำเลยว่าจำเลยผู้ให้สิทธิตกลงจะดำเนินการตามคำโฆษณานั้นเพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 1 เข้าทำสัญญาเป็นผู้รับสิทธิจนเป็นมูลเหตุจูงใจให้โจทก์ที่ 1 เข้าทำสัญญากับจำเลย ดังนี้ จึงต้องถือว่าคำโฆษณาดังกล่าวเป็นข้อตกลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผูกพันจำเลยให้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำโฆษณานั้นด้วย เมื่อจำเลยมิได้ดำเนินการตามคำโฆษณาก็ย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ เมื่อโจทก์ที่ 1 บอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยก็จำต้องให้โจทก์ที่ 1 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานะผิดสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391

ผู้พิพากษา

ปริญญา ดีผดุง
อร่าม เสนามนตรี
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android