คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5559/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 23 ม.ค. 2557 11:13:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงกันว่าอุณหภูมิภายในตู้สินค้าห้องเย็นต้องอยู่ในระดับ ลบ 24 องศาเซลเซียส เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดูแลรักษาอุณหภูมิสินค้าให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้ จึงเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา ทำให้สินค้าไม่ได้มาตรฐานสินค้าแช่แข็งส่งออกของผู้เอาประกันภัยซึ่งอาจมีมาตรฐานสูงกว่ามาตรฐานของกรมปศุสัตว์หรือเจ้าของสินค้ารายอื่น จำเลยที่ 1 จะอ้างมาตรฐานของกรมปศุสัตว์มากล่าวอ้างให้ไม่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาไม่ได้
พนักงานของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถเฉี่ยวชนตู้สินค้าห้องเย็นที่บรรจุสินค้าจนชำรุดอันเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสินค้าในตู้โดยตรง ทั้งจำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่าสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าห้องเย็นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่รักษาอุณหภูมิภายในตู้ให้ได้ตามที่กำหนดไว้เสมอ เมื่อจำเลยที่ 2 ทำให้ตู้สินค้าห้องเย็นนี้เสียหายก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขซ่อมแซมเพื่อป้องกันมิให้สินค้าเสียหาย หากจำเลยที่ 2 รีบซ่อมแซมอย่างเหมาะสมด้วยวิธีเพียงใช้แผ่นโลหะปะเข้าแทนที่ในส่วนที่ผนังตู้ขาดด้านนอกแล้วยึดแผ่นโลหะด้วยวิธียิงด้วยเครื่องยิงหมุดแล้วฉีดโฟมเข้าไปในช่องว่างระหว่างโลหะด้านในและด้านนอกเฉพาะจุดที่ฉีกขาดนั้น อันเป็นวิธีการดังที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ให้ความเห็นไว้ในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า สามารถทำได้โดยง่าย ใช้เวลาเพียง 10 นาที เท่านั้น ก็น่าเชื่อว่าจะบรรเทาความเสียหายได้มาก แต่จำเลยที่ 2 กลับปล่อยให้ตู้สินค้าห้องเย็นมีส่วนที่ชำรุดถึงโลหะชั้นในและไม่มีฉนวนกันความร้อนเป็นเวลานานถึง 10 ชั่วโมง พนักงานของจำเลยที่ 2 จึงมาช่วยซ่อมแซมตู้สินค้าห้องเย็น แต่ก็ทำเพียงนำแผ่นฟอยล์ซึ่งมีเพียงแถบกาวมาปิดทับผนังตู้สินค้าห้องเย็นตรงที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่าไม่ใช่วิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลรักษาตู้สินค้าห้องเย็นให้สินค้าของผู้เอาประกันภัยอยู่ในสภาพที่ดีมีอุณหภูมิที่ตั้งค่า ลบ 24 องศาเซลเซียส ได้ทราบเหตุตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2546 ก็ดำเนินการเพียงแจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบ และร่วมกับพนักงานของจำเลยที่ 2 นำแผ่นฟอยล์ซึ่งมีแถบกาวไปปิดตู้สินค้าห้องเย็นตรงที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น หลังจากนั้นได้แต่ตรวจสอบระบบการทำงานของเครื่องทำความเย็น โดยไม่ดำเนินการเยียวยาอย่างอื่น ถือได้ว่ายังไม่ได้กระทำการให้เพียงพอแก่หน้าที่ในอันที่จะรักษาอุณหภูมิสินค้าให้ได้ตามที่สัญญาไว้ อันถือได้ว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน
ผู้เอาประกันภัยได้รับแจ้งเหตุตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2546 เวลา 9 นาฬิกา จนวันที่ 21 กรกฎาคม 2546 จึงส่งตัวแทนไปสำรวจความเสียหายของตู้สินค้าห้องเย็น และตัดสินใจนำตู้สินค้าห้องเย็นพิพาทออกจากท่าเรือกรุงเทพในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ทั้งยังจัดประมูลขายซากสินค้าในวันที่ 3 และ 9 กันยายน 2546 อันเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าไปอีกประมาณ 40 ถึง 50 วัน สินค้าอาหารประเภทไก่แช่แข็งควรรีบขายโดยเร็ว การปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไปโดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นเช่นนี้ ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจะทำให้ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าที่ควรจะขายได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้นอกจากจะเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 รวมทั้งจำเลยที่ 1 แล้ว ผู้เอาประกันภัยก็มีส่วนปล่อยเวลาให้ล่วงเลยทำให้มูลค่าของสินค้าพิพาทลดลงจนเป็นความเสียหายสูงขึ้นด้วย
การที่จะให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยรวมถึงโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยจะเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้นย่อมต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 ทั้งการจะให้บุคคลหลายคนรับผิดร่วมกันในหนี้จำนวนหนึ่งอย่างลูกหนี้ร่วมต้องเป็นไปโดยนิติกรรมหรือมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งให้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจัดหาตู้สินค้าห้องเย็นและขนส่งไปยังท่าเรือโดยมีหน้าที่ดูแลรักษาอุณหภูมิในตู้สินค้าห้องเย็นให้เหมาะสมในการเก็บรักษาสินค้า แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดูแลรักษาอุณหภูมิจนเป็นเหตุให้สินค้าเสียหาย แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดด้วย แต่จากข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องและที่รับฟังได้ เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่ต้องรับผิดตามสัญญา และเป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหลังจากพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดกระทำโดยประมาททำให้สินค้าเสียหาย จึงไม่ใช่กรณีร่วมกันทำละเมิด หากแต่เป็นกรณีที่มูลแห่งความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แตกต่างกัน มีผลต่อความเสียหายคนละส่วนต่างกันย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าเสียหายต่อโจทก์และไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันจะถือให้ความรับผิดในลักษณะแตกต่างกันเช่นนี้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223

ผู้พิพากษา

ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร
อร่าม เสนามนตรี
ปริญญา ดีผดุง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android