คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 24 มิ.ย. 2556 14:32:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ผู้ประกันทั้งสองยื่นคำร้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 ว่า ผู้ประกันทั้งสองไม่ได้ผิดสัญญาประกันเพราะไม่ได้รับหมายนัดให้ส่งตัวจำเลย ขอให้ไต่สวนคำร้องในการส่งหมายนัดและงดปรับผู้ประกันทั้งสองศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด การที่ผู้ประกันทั้งสองมายื่นคำร้องครั้งใหม่นี้อ้างว่า คำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะอ้างเหตุใหม่ก็ตามแต่ก็เป็นเหตุที่สามารถอ้างได้ตั้งแต่ยื่นคำร้องครั้งแรกและประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก็เป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และถึงที่สุดไปแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 เมื่อศาลมีคำสั่งบังคับตามสัญญาประกันแล้ว ถ้าผู้ประกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ถือว่าผู้ประกันเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกัน จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมที่จะต้องดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญา แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติวิธีการบังคับผู้ประกันไว้ ทั้งไม่มีกฎหมายอื่นใดบัญญัติไว้เป็นพิเศษ กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 271 แห่ง ป.วิ.พ. ผู้ที่จะบังคับคดีชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง ไม่ใช่ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่จำเลยถูกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ประกันทั้งสองชำระค่าปรับภายใน 30 วัน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2548 โดยแจ้งคำสั่งทางไปรษณีย์ตอบรับให้ผู้ประกันทั้งสองทราบแล้ว วันที่ 27 พฤษภาคม 2548 ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีผู้ประกันทั้งสอง ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2552 ป. ผู้รับมอบอำนาจจากหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องของผู้ประกันทั้งสอง ถือได้ว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้บังคับคดีผู้ประกันทั้งสองตามคำสั่งศาลภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งแล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271

ผู้พิพากษา

มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด
สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร
สมสันต์ ศุภศาสตรสิน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android