คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11718/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 8 ต.ค. 2555 10:02:39

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ค. เริ่มครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2500 ภายหลังวันที่ ป. ที่ดิน ใช้บังคับ ค. และจำเลยจึงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมาตรา 4 แห่ง ป.ที่ดิน แม้ ค. จะได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนวันที่ประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 621ฯ แต่สิทธิในที่ดินพิพาทที่ ค. มีอยู่นั้นมิใช่สิทธิตาม ป.ที่ดิน โดยที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินของรัฐอยู่ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ค. ก็มีแต่เพียงสิทธิในการยื่นคำร้องต่อนายอำเภอเมืองภูเก็ตเพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้ตามความในมาตรา 12 และมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เท่านั้น และเมื่อ ค. โดยจำเลยผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นคำร้องเกินกำหนดเวลาตามกฎหมายจึงมีผลให้ถือว่าจำเลยสละสิทธิหรือประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดตามกฎหมาย ดังนั้น ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิดอันเป็นที่ดินของรัฐซึ่งโจทก์มีอำนาจปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมโดยไม่ต้องจัดซื้อหรือเวนคืนจากจำเลยตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
บทนิยามตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 เกษตรกร หมายความว่าผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักประเภทหนึ่ง กับบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร ซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักอีกประเภทหนึ่งทั้ง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลเชิงทะเล ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง ตำบลกมลา ตำบลกะทู้ ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ และตำบลเกาะแก้ว ตำบลรัษฎา ตำบลวิชิต ตำบลกะรน ตำบลฉลอง ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินฯ และระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มุ่งหมายให้เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ หรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรม เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน แต่ในขณะที่จำเลยยื่นคำขอและคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยมีที่ดินเป็นของตนรวม 12 แปลง มีเนื้อที่รวม 314 ไร่เศษ จำเลยจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เพราะมิใช่ผู้ไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ หรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรมตามเจตนารมณ์ในการตราและประกาศใช้ พ.ร.ฎ.และระเบียบฉบับดังกล่าว
คดีไม่มีทุนทรัพย์ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความ 2,000 บาท แทนโจทก์ จึงเกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงไม่เกิน 1,500 บาท ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4
  • พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 12
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 12
  • พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 13

ผู้พิพากษา

นิยุต สุภัทรพาหิรผล
นพวรรณ อินทรัมพรรย์
วิรุฬห์ แสงเทียน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android