คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 13 ก.ค. 2555 10:14:23

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ผู้ที่มีอำนาจอ้างบทกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเท่านั้น เมื่อโจทก์ยอมรับในขณะยึดทรัพย์ว่าเงินสดจำนวน 1,192,727 บาท และรถยนต์กับรถจักรยานยนต์ไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกทรัพย์ดังกล่าวคืนได้
การยึดสิ่งของไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐาน นั้น ป.วิ.อ. มาตรา 85 วรรคสาม บัญญัติว่า สิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น เงินจำนวน 83,000 บาท แม้จะยึดจากโจทก์ก็อาจใช้เป็นพยานหลักฐานสำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยอื่นได้ เมื่อมาตรา 85 วรรคสาม ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องคืนให้แก่ผู้ต้องหาคนที่ถูกยึดมาเมื่อคดีสำหรับผู้ต้องหาคนดังกล่าวถึงที่สุด จึงต้องตีความว่าคดีถึงที่สุดทั้งคดี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนนับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2538 ซึ่งเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา และเมื่อการยึดเงินดังกล่าวเป็นการยึดไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐานจึงเป็นการยึดไว้เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยประการอื่น กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1327 โจทก์จึงต้องฟ้องเรียกคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คือต้องฟ้องภายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2539 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2545 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85

ผู้พิพากษา

ธนฤกษ์ นิติเศรณี
สิริรัตน์ จันทรา
สมยศ เข็มทอง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android