คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยที่ 1 หัวหน้างานบริหารการฝึกอบรมของวิทยาลัยการปกครองมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหมวดอาคารและสถานที่ งานบริหารการฝึกอบรมของวิทยาลัยการปกครองและเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุ อันเป็นการบริหารงานภายในของวิทยาลัยการปกครองมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายลำดับรองอื่น ๆ ที่หากจำเลยที่ 1 จะมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 วินิจฉัยสั่งการ จะต้องทำเป็นหนังสือตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าหมวดอาคารและสถานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุโดยชอบแล้ว แม้การมอบหมายจะกระทำด้วยวาจาก็ตาม
จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานบริหารการฝึกอบรม แม้จะมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องควบคุมการปฎิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 กลับปล่อยปละละเลยหน้าที่ควบคุมของตน ส่วนจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วย แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์รถยนต์คันพิพาท โดยไม่จัดให้มีสมุดบันทึกการใช้และรายการซ่อมบำรุงรถยนต์คันพิพาทตามระเบียบของราชทัณฑ์ขับรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งมีสภาพไม่สมบูรณ์ออกจากวิทยาลัยการปกครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชนรถยนต์ของบุคคลอื่นได้รับความเสียหายที่หน้าวิทยาลัยการปกครองกรมการปกครองโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายแล้ว แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ใช่ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุ การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในกรณีเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์แล้ว
จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างประจำของวิทยาลัยการปกครอง ตำแหน่งคนงานมีหน้าที่ตัดหญ้าและทำความสะอาดบริเวณวิทยาลัย จำเลยที่ 4 ไม่ได้อนุญาตให้ อ. ขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกจากวิทยาลัยแต่ อ. ขอให้จำเลยที่ 4 นั่งไปในรถยนต์เพื่อขับรถยนต์กลับ การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างคนต่างทำละเมิดต่อโจทก์ มิได้ร่วมกันทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 432 วรรคหนึ่ง ทั้งเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนทำอันก่อให้เกิดการละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าวและความร้ายแรงแห่งละเมิดตามมาตรา 438 วรรคหนึ่งแล้ว ศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดคนละส่วนเท่า ๆ กัน
จำเลยที่ 2 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความ โจทก์อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความตั้งเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่มีประเด็นในเรื่องอายุความ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ 10 ปี ในการใช้สิทธิไล่เบี้ยไว้ ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249