คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7121/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 11 ต.ค. 2555 10:47:47

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้สงสัยตามสมควรว่า เป็นไปได้ที่โจทก์ร่วมวาดแม่แบบก่อนการแกะแบบโดยลอกแบบส่วนใหญ่หรือทั้งหมดมาจากงานประติมากรรมนางรำคู่ชิ้นหนึ่งที่ปรากฏอยู่ที่เสาของโบราณปราสาทบายน จากนั้นจึงทำบล็อกและแกะแบบต่อไปตามลำดับ หรือไม่ก็อาจนำลายที่ลอกจากงานศิลปะที่พบเห็นได้ทั่วไปทั้งที่เป็นศิลปะไทยหรือศิลปะขอมซึ่งสามารถเขียนลอกลายกันได้อย่างง่ายดายมาเขียนลอกลงไปในส่วนที่เป็นรายละเอียดของงานประติมากรรมนางรำคู่ที่ปรากฏอยู่ที่เสาของโบราณสถานปราสาทบายนอีกเพียงเล็กน้อย ซึ่งหากลักษณะการสร้างงานของโจทก์ร่วมเป็นเช่นนั้น ก็ไม่อาจถือได้ว่าการสร้างงานประติมากรรมนางรำคู่ของโจทก์ร่วมเป็นการสร้างงานที่มีความคิดริเริ่มด้วยตนเองหรือใช้ความวิริยะอุตสาหะที่เพียงพอแม้แต่เพียงขั้นเล็กน้อย
แม้การทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานประติมากรรมนางรำคู่ตามโบราณสถานจะต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะอยู่บ้าง แต่ก็เป็นความวิริยะอุตสาหะในการทำซ้ำหรือดัดแปลง มิอาจถือเป็นความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานถึงขนาดจะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามความหมายของกฎหมาย ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะได้ขายงานที่ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานประติมากรรมนางรำคู่ตามวัตถุพยานของโจทก์ร่วมหรือไม่ก็ตามการกระทำของจำเลยย่อมไม่อาจเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 62
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4

ผู้พิพากษา

บุญรอด ตันประเสริฐ
พลรัตน์ ประทุมทาน
รัตน กองแก้ว

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android