คำพิพากษาย่อสั้น
ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเขียนเอง มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่า เมื่อ ฉ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วบ้านและที่ดินนั้น เจ้ามรดกขอยกให้สิทธิอยู่อาศัยและสิทธิเก็บกินแก่จำเลยมีอำนาจครอบครองและเก็บกินได้จนตลอดชีวิต แต่ถ้าจำเลยถึงแก่ความตายลงเมื่อใดแล้ว ให้บ้านและที่ดินนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แก่บุตรที่เกิดจาก ช. ทุกคนโดยให้บุตรของ ช. ทุกคนมีส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินนี้เท่ากัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าว เจ้ามรดกมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้แก่จำเลยโดยเหตุนี้ เมื่อ ฉ. ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย สิทธิของจำเลยในฐานะผู้รับพินัยกรรมซึ่งเกิดมีขึ้นตามกฎหมายก็มีเพียงตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมว่าให้จำเลยมีเพียงสิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินในบ้านและที่ดินได้ตลอดชีวิตเท่านั้น ส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินจะต้องตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตร ช. เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายแล้วตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่ ฉ. ผู้ทำพินัยกรรมระบุให้พินัยกรรมมีผลบังคับให้เรียกร้องกันได้ภายหลัง ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1673 ประกอบมาตรา 1674 วรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่านับแต่ ฉ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและข้อกำหนดในพินัยกรรมเฉพาะส่วนของจำเลยมีผลนั้นก็มีผลเพียงให้จำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินในบ้านและที่ดินจนตลอดชีวิตของจำเลยเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินแทนโจทก์ทั้งสามผู้รับพินัยกรรมซึ่งมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขนั้นยังไม่สำเร็จเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้ ทั้งนี้เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 1755 รับรองสิทธิของบุคคลที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะบุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดกเท่านั้น จำเลยครอบครองบ้านและที่ดินทรัพย์มรดกแทนโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาท จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้
จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับมรดกบ้านและที่ดินมาเป็นของตนเนื่องจากบ้านและที่ดินเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมระบุยกให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว เพียงแต่เงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนดให้บ้านและที่ดินตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามยังไม่สำเร็จเพราะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตายเท่านั้น บ้านและที่ดินจึงมิใช่ทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะตกทอดแก่จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามป.พ.พ.มาตรา 1620