คำพิพากษาย่อสั้น
ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่นาง ต. ผู้เป็นมารดาเพียงผู้เดียว แต่นาง ต. มารดาผู้รับพินัยกรรมได้ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นาง ต. มารดาย่อมตกไปตามมาตรา 1698 (1) ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นมรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง แม้พินัยกรรมดังกล่าวมีข้อกำหนดให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก แต่ความปรากฏในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาว่าผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่ความตายและการจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงไม่อาจตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องได้
เมื่อผู้ร้องกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามมาตรา 1457 ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคสอง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคคลทั้งสองอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาตั้งแต่ปี 2523 จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย ตลอดเวลาทำมาหาได้ร่วมกัน ดังนั้นทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้ ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของรวม เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองร่วมกันทำมาหาได้ย่อมต้องแบ่งเป็นของผู้ร้องส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนเด็กหญิง ญ. แม้จะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่ปรากฏตามสำเนาสูติบัตรว่าผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของเด็กหญิง ญ. ทั้งได้นำเด็กหญิง ญ. มาเลี้ยงดูอุปการะ ส่งเสียให้เล่าเรียนและให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงได้ว่าผู้ตายได้รับรองเด็กหญิง ญ. เป็นบุตร ดังนั้นเด็กหญิง ญ. จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ฉะนั้นผู้ร้องในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ญ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713
สำหรับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรที่ผู้ตายได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1547 มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย