คำพิพากษาย่อสั้น
แม้โจทก์จะเป็นผู้ถือหุ้นแทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ตามข้อต่อสู้ของจำเลยก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ซึ่งเป็นตัวการกับโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทน ส่วนที่จำเลยมีเอกสารมาแสดงว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. เป็นผู้ชำระค่าหุ้นแทนโจทก์และผู้ถือหุ้นรายอื่นฝ่ายไทยนั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างตัวการและตัวแทนเช่นเดียวกัน ทั้งอาจมีข้อต่อสู้กันระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ก็ได้ว่าเงินที่ชำระไปนั้นเป็นการชำระค่าหุ้นในฐานะตัวการจริงหรือไม่ เมื่อจำเลยไม่ได้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชีจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะไปยกข้อต่อสู้ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. กับโจทก์เพื่อบอกปัดไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ได้ เมื่อโจทก์มีหลักฐานการจดทะเบียนผู้ถือหุ้นมาแสดงว่าโจทก์มีหุ้นจำนวน 250 หุ้น ชำระราคาแล้วหุ้นละ 500 บาท อันเป็นเอกสารราชการในเบื้องต้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อความตามเอกสารดังกล่าวถูกต้อง จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชีต้องจ่ายเงินส่วนแบ่งให้แก่โจทก์ตามสิทธิอันพึงมีตามหุ้นดังกล่าว ส่วนความรับผิดระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. นั้น เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะไปว่ากล่าวกันเอง
เมื่อปรากฏว่า บ. ถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชีต้องจ่ายเงินตามสิทธิในหุ้นจำนวน 500 หุ้น ให้แก่กองมรดกของ บ. ตามหลักฐานผู้ถือหุ้นที่ปรากฏเช่นเดียวกับโจทก์ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องในฐานะเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับ บ. ไม่ได้ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. จึงไม่อาจอ้างแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีได้ เพราะเป็นการกระทบกระเทือนต่อกองมรดกของ บ. เนื่องจากทายาทของ บ. อาจมีข้อต่อสู้กับโจทก์ได้ว่าเงินที่ บ. มีสิทธิได้รับนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับครึ่งหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่โจทก์จะไปว่ากล่าวเอาจากกองมรดกของ บ. เอง ไม่ใช่มาเรียกเอาจากผู้ชำระบัญชี ส่วนหุ้นที่ บ. เป็นผู้ถือหุ้นนั้น จะเป็นการถือแทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และห้างดังกล่าวเป็นผู้ออกเงินค่าหุ้นหรือไม่นั้น เป็นเรื่องระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จะไปว่ากล่าวเอากับผู้จัดการมรดกหรือทายาทของ บ. เอง ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินครึ่งหนึ่งตามส่วนของหุ้นทั้งหมดที่ บ. ถือ คิดเป็น 250 หุ้น เป็นเงิน 369,235.95 บาท จากจำเลยได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวประกอบมาตรา 246 และ 247 ด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)