คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5469/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 14 ก.ค. 2554 14:52:11

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การนำส่วนที่เป็นสาระสำคัญ (Substantial part) ของเพลง "สายชล" ไปใช้ในภาพยนตร์ หากจะมีการนำไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการค้า ย่อมจะต้องดำเนินการขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย การนำเพลง "สายชล" ไปใช้ในภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยมีจุดประสงค์ในการหากำไรและมีการจัดทำโสตทัศนวัสดุในรูปแบบบวีซีดีและดีวีดีเพื่อจำหน่ายในเวลาต่อมา นับเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงไม่เข้าข่ายที่จะได้รับยกเว้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 32
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 18 กำหนดว่า ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. นี้มีสิทธิที่จะแสดงว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่า โจทก์เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลง "สายชล" โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ทำนองเพลง "สายชล" ดังกล่าว
ส่วนคำขออื่นของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองยุติการจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชน การเก็บแผ่นวีซีดีและดีวีดีออกจากตลาดรวมทั้งการลงประกาศในหนังสือพิมพ์นั้น เห็นว่า แม้งานดนตรีกรรมของโจทก์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญจะถูกนำไปใช้ แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ ทั้งการทำให้ปรากฏข้อความว่านางสาว จ. เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลง "สายชล" ยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาละเมิดสิทธิของโจทก์ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความเสียหายของโจทก์กับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว ตลอดจนค่าเสียหายที่ได้กำหนดให้แก่โจทก์แล้ว จึงเห็นควรไม่กำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องดำเนินการต่างๆ อีก
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18

ผู้พิพากษา

พรเพชร วิชิตชลชัย
พลรัตน์ ประทุมทาน
อร่าม เสนามนตรี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android