คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3899/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ก.ค. 2554 14:50:58

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 18 และ 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินหรือบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ โดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วนับเป็นหลักในการคำนวณภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา เมื่อโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งพิมพ์ข้อความว่าประจำปีภาษี 2546 โดยโจทก์ผู้รับประเมินแจ้งรายการทรัพย์สินที่โจทก์ใช้ในปี 2545 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ภาษีดังกล่าวเรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 ดังนั้น ที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ในปี 2545 นั้น จึงชอบแล้ว
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 23 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจตราทรัพย์สินได้ด้วยตนเองต่อหน้าผู้รับประเมิน ผู้เช่าหรือผู้ครองหรือผู้แทน... ในการนี้ผู้รับประเมิน ผู้เช่า หรือผู้ครองจะต้องได้รับแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบไม่ต่ำกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงก่อนตรวจนั้น มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณีไป เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์ที่จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตราก็ควรจะแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินทราบก่อนทำการตรวจ ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามมาตราดังกล่าว จึงไม่ถึงกับทำให้การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจและตัดสินใจที่จะชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่นั้นด้วยตนเองโดยไม่จำต้องชี้ขาดตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ที่ทำหน้าที่ช่วยกลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นอันเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมายซึ่งไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย
กรณีคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือจะต้องแสดงเหตุผลตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 37 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงกรณีอันเป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือไม่ต้องแสดงเหตุผลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 วรรคสาม (1) ถึง (4) ประกอบด้วยกรณีที่ว่าเหตุผล (ที่ต้องแสดง) นั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก การที่เหตุผลนั้นจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วหรือไม่ย่อมเป็นปัญหาข้อเท็จจริง กรณีนี้โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 225
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 23
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 ถึง 30
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 19
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
  • พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37

ผู้พิพากษา

ชาลี ทัพภวิมล
องอาจ โรจนสุพจน์
เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android