คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3405/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 7 ส.ค. 2555 10:06:38

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่า ณ กับ ว. ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ไม่ได้รับทราบคำสั่งอนุญาตให้หยุดพักผ่อนประจำปี และบุคคลทั้งสองยังคงปฏิบัติหน้าที่ในวันที่มีสิทธิหยุดพักผ่อนดังกล่าว แต่โจทก์กลับเบิกจ่ายเงินให้บุคคลภายนอกที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเพื่อให้มาปฏิบัติหน้าที่แทน ณ กับ ว. โดยที่บุคคลภายนอกไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างจริง การกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรงอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ไม่ว่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจะมีจำนวนมากหรือน้อยเพียงใด
ศาลแรงงานภาค 8 กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 3 ข้อ คือ (1) โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งของฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทยที่ให้ไล่โจทก์ออกจากงานหรือไม่ (2) โจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือไม่ และ (3) จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่เพียงใดดังนั้นเมื่อศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยประเด็นพิพาทข้อ 1 ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่เป็นการทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและมีโทษไล่ออก คำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานชอบแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออก ผลที่ตามมาคือโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมตามประเด็นพิพาทข้อ 2 และจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีกตามประเด็นพิพาทข้อ 3 ที่ศาลแรงงานภาค 8 ไม่ยกประเด็นข้อพิพาทในข้อ 2 และข้อ 3 ขึ้นวินิจฉัยอีกจึงไม่เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534

ผู้พิพากษา

สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
วิรุฬห์ แสงเทียน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android