คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2488/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 7 ส.ค. 2555 10:06:45

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาอุทธรณ์แล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาพอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรหนึ่ง แล้ว
ป.พ.พ. มาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามหนังสือสัญญากู้เงินข้อ 2 ระบุว่า ผู้กู้สัญญาว่าจะชำระเงินกู้รายนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับแต่วันทำสัญญาฉบับนี้ และจะชำระดอกเบี้ยกับผ่อนเงินต้นตามสัญญานี้ให้กับผู้ให้กู้เป็นจำนวนรวมกันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,900 บาท ทุกวันสิ้นเดือน เริ่มแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่ได้รับเงินกู้เป็นต้นไปหากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้งวดหนึ่งงวดใด ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้ฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดคืนได้ทันทีหลังจากจำเลยทำสัญญากู้และสัญญาจำนองแล้วจำเลยไม่เคยชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลย ถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่งวดแรกซึ่งถึงกำหนดชำระในวันที่ 31 มีนาคม 2523 โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2523 อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปหาได้เริ่มนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาตามหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ดังที่อุทธรณ์ไม่ ทั้งการที่จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนโจทก์เป็นงวดงวดละเดือนเป็นการที่โจทก์เรียกร้องเอาเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ อันมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) หาใช่อายุความสิบปีตามที่โจทก์อุทธรณ์ไม่
การจำนองทรัพย์สินเพื่อเป็นประกันหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 755 และมาตรา 193/27 บัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่า แม้หนี้ที่ประกันหรือหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว ก็ยังบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ แต่ดอกเบี้ยที่ค้างให้คิดย้อนหลังขึ้นไปได้เพียงห้าปีเท่านั้น
แม้ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองจะระบุว่า หากมีการบังคับจำนองและภายหลังจากเอาทรัพย์สินที่จำนองขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องชำระเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยยินยอมรับใช้เงินจำนวนที่ขาดนั้นจนครบอันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติมาตรา 733 ก็ตาม แต่เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความดังได้วินิจฉัยแล้ว โจทก์คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำเลยจำนองไว้เท่านั้นจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยหาได้ไม่
แม้จำเลยจะมีหน้าที่ตามสัญญากู้เงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์ทำประกันภัยได้เองและจำเลยยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อหน้าที่ที่จำเลยจะต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระ อันเป็นหนี้ในอนาคตจะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12

ผู้พิพากษา

เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์
ศุภชัย สมเจริญ
สนอง เล่าศรีวรกต

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android