คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5202/2552

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 10 พ.ค. 2554 15:25:15

คำพิพากษาย่อสั้น

 
งานที่จะได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานศิลปกรรมแม้กฎหมายจะไม่ได้มุ่งประสงค์ให้งานนั้นต้องมีคุณค่าทางศิลปะ แต่ก็ต้องเป็นงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยตนเอง (Originality) ในลักษณะที่ควรจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย มิใช่เป็นเพียงงาน (Work) ซึ่งทำขึ้นโดยทั่วไปเท่านั้น
ภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) ของโจทก์ทั้งสอง แม้จะมีความแตกต่างจากรูปประกายดาวของจำเลย แต่ความแตกต่างดังกล่าวยังเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยและไม่เป็นสาระสำคัญถึงขนาดที่จะเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) อันควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
โจทก์ที่ 2 ได้ว่าจ้างให้บริษัท ด. เป็นผู้ออกแบบงาน โดยมี อ. เป็นผู้ดำเนินการ มีการปรับเปลี่ยนร่างหลายครั้งใช้เวลากว่า 5 เดือน จึงเป็นการสร้างงานดังกล่าวขึ้นด้วยตนเอง ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์ที่สร้างขึ้นมีลักษณะเป็นโมเลกุลและแสดงออกถึงพลังและอานุภาพของเม็ดผงซักฟอกสีฟ้า แม้ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์จะเป็นรูปทรงกลมอันเป็นรูปทรงเรขาคณิตทั่วไป แต่ก็เป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้นและสี โดยไม่ได้ลอกเลียนหรือดัดแปลงมาจากงานที่มีอยู่เดิมจึงแสดงให้เห็นถึงความเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) ที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง จึงมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม อันได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
อ. เป็นผู้สร้างงานขึ้น โดยภาพวาดรูปมือในงานนั้นมีลักษณะของการจัดวางมือทั้งสองข้างที่จับอยู่บนเสื้อ ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้นและสี เมื่อไม่เป็นการลอกเลียนหรือดัดแปลงมาจากงานที่มีอยู่เดิม ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) ที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง จึงมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม อันได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แม้ต่อมาจะมีการนำงานนี้ไปใช้ในทางการค้าก็ไม่เป็นเหตุขาดคุณสมบัติที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อความที่ว่า "สูตรมาตรฐาน สำหรับซักมือ" เป็นเพียงคำสามัญทั่วไปที่ระบุถึงคุณสมบัติของสินค้ามากกว่าที่จะสร้างคำบรรยายดังกล่าวในแง่ของงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมในตัวเอง จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แม้ อ. นำมาใช้ประกอบกับภาพวาดรูปมือและประสงค์จะใช้เป็นงานชิ้นเดียวกัน แต่ก็เห็นได้ว่า ในการสร้างงานขึ้นมานี้ ภาพวาดกับคำบรรยายดังกล่าวสามารถแยกส่วนออกจากกันได้อย่างชัดเจน ในส่วนของคำบรรยายจึงไม่ได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมทั้งภาพ
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 บัญญัติว่า "งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า" วัตถุประสงค์ของการให้ความคุ้มครองงานศิลปประยุกต์จึงหมายถึงการนำงานศิลปกรรมลักษณะงานต่าง ๆ มาใช้ในลักษณะที่เกิดประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าว เมื่อภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์กับภาพวาดรูปมือเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม และถูกนำไปใช้ประกอบกันบนซองบรรจุภัณฑ์ เพื่อประกอบเครื่องหมายการค้า ภาพและข้อความอื่น ๆ อันเป็นการนำเอางานศิลปกรรมไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า การออกแบบซองบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปประยุกต์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4

ผู้พิพากษา

พรเพชร วิชิตชลชัย
พลรัตน์ ประทุมทาน
พินิจ บุญชัด

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android