คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 10 พ.ค. 2554 15:31:08

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ทำสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองสายเคเบิลโทรศัพท์ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยที่ 1 บริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางหลวงโดยกรมทางหลวงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบในการกำกับ ตรวจตรา ควบคุมและบำรุงรักษา รวมทั้งการบูรณะและการขยายทาง ผู้ใดจะใช้หรือทำสิ่งใดๆ ต่อทางดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากกรมทางหลวง ซึ่งกรมทางหลวงย่อมมีอำนาจพิจารณาอนุญาตหรือไม่ หรืออนุญาตภายใต้เงื่อนไขหรือข้อกำหนดก็ได้ถ้ามีการอนุญาตโดยกำหนดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดไว้ ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและข้อกำหนดเช่นนั้น ซึ่งหน้าที่เช่นนี้ย่อมครอบคลุมไปถึงบุคคลอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยอาศัยสิทธิของผู้ได้รับอนุญาต ดังนั้น เงื่อนไขหรือข้อกำหนดใดที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะต้องรักษาหรือปฏิบัติต่อกรมทางหลวง อันเกี่ยวข้องกับการใช้ทางหลวงในบริเวณที่เกิดเหตุ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในฐานะผู้ร่วมการงานและร่วมลงทุนกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้เข้ามาโดยอาศัยสิทธิขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยย่อมต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือข้อกำหนดดังกล่าวด้วย เพราะหากปราศจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้วโจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะใช้ทางหลวงดังกล่าวได้ เมื่อปรากฏว่ากรมทางหลวงโดยแขวงการทางกาญจนบุรีได้มีหนังสือถึงองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโดยผ่านทางหัวหน้าชุมสายโทรศัพท์กาญจนบุรีให้ดำเนินการรื้อย้ายบรรดาสาธารณูปโภคอันเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ในเขตบริเวณทางหลวงที่จะก่อสร้างซึ่งรวมถึงทางบริเวณที่เกิดเหตุแล้ว กรมทางหลวงย่อมไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบอีกเพราะเป็นกรณีที่ถือว่าโจทก์ทราบแล้ว
การที่โจทก์ได้ทราบการขุดถนนของจำเลยที่ 1 แล้วก่อนเกิดเหตุ แต่ก็มิได้ไยดีว่าอาจเกิดความเสียหายขึ้นแก่ทรัพย์สินของตน พฤติการณ์ดังกล่าวถ้ามิใช่การตั้งใจเข้าเสี่ยงภัยอันถือได้ว่าเป็นการยินยอมก็เป็นการประมาทของฝ่ายโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 เมื่อได้รับมอบหมายจากกรมทางหลวงให้ดำเนินการก่อสร้างทางพิพาทโดยกรมทางหลวงได้แจ้งให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทราบ ซึ่งถือว่าโจทก์ได้ทราบแล้วได้เข้าดำเนินการตามคำสั่งและภายในกรอบเงื่อนไขที่กรมทางหลวงกำหนดไว้ ย่อมถือได้ว่าไม่มีความประมาทในการดำเนินการดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบอีก อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะสามารถอนุมานได้ว่าถึงหากกรมทางหลวงเข้าดำเนินการด้วยตนเองก็คงจะทำอย่างจำเลยที่ 1 เช่นกัน ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่โจทก์ย่อมไม่แตกต่างกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

ผู้พิพากษา

สุรศักดิ์ กิตติพงษ์พัฒนา
ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช
วรพจน์ วิไลชนม์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android