คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2231/2553

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 4 ต.ค. 2554 15:12:52

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้แก่คู่พิพาท หากอนุญาโตตุลาการปราศจากเสียซึ่งความเป็นกลางและเป็นอิสระแล้ว คู่พิพาทก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรมและกระบวนการอนุญาโตตุลาการก็จะไม่ได้รับการยอมรับ บทบัญญัตินี้จึงเป็นบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นที่แท้จริงของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 จึงไม่มีเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางและเป็นอิสระของผู้คัดค้านที่ 1 ในการปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ดังนั้น การที่ผู้ร้องทั้งสามสำนวนอุทธรณ์คัดค้านว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานอนุญาโตตุลาการขาดความเป็นกลางและเป็นอิสระ จึงเป็นการกล่าวอ้างคัดค้านว่าคำสั่งศาลชั้นต้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 45 (2) แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ลงชื่อโอนหุ้นให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมต้องรู้อยู่ก่อนแล้วว่าหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ออกในนามของตนเอง แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะเห็นว่าตนไม่มีส่วนได้เสียในการซื้อหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ก็มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตนให้คู่พิพาททราบ การที่ผู้คัดค้านไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการขัดต่อหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่อาจทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการรวมทั้งเป็นประธานอนุญาโตตุลาการได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 19
  • พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45

ผู้พิพากษา

วิรุฬห์ แสงเทียน
นพวรรณ อินทรัมพรรย์
นิยุต สุภัทรพาหิรผล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android