คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4805/2553

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 21 ต.ค. 2554 10:23:32

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าอาคารทาวน์เฮาส์ที่ขายให้โจทก์ก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ขออนุญาตจากทางราชการ ยังยืนยันต่อโจทก์ว่าอาคารดังกล่าวได้ถูกออกแบบมาอย่างดีถูกต้องตามหลักวิศวกรรมไม่จำต้องมีเสากลางอาคาร จึงเป็นการจงใจปกปิดข้อความจริงเพื่อจูงใจให้โจทก์ซื้ออาคาร เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเมื่อเข้าอยู่อาศัยในอาคารได้ 1 ปีเศษ อาคารเริ่มแตกร้าว พื้นอาคารชั้นล่างแตกและโก่งงอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ตรวจสอบแล้วพบว่าฐานรากของอาคารเอียงและบิดตัว ตำแหน่งศูนย์กลางของเข็มและเสาเยื้องกันมากทำให้เกิดการแตกร้าวของโครงสร้าง อาคารดังกล่าวไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยควรจะทุบและรื้อถอน ซึ่งโจทก์ได้ทุบและรื้อถอนอาคารนั้นแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการก่อสร้างอาคารดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
จำเลยที่ 4 เป็นฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างไม่ได้ใช้ความรู้ในวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบเพื่อให้อาคารมีความมั่นคงและปลอดภัยในการอยู่อาศัย ทั้งเข้าควบคุมงานก่อสร้างอาคารและขออนุญาตก่อสร้างจากทางราชการให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือแม้จะฟังว่าลายมือชื่อวิศวกรและผู้ควบคุมงานก่อสร้างเป็นลายมือชื่อปลอมก็มีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อจำเลยที่ 4 ในช่องวิศวกรและผู้ควบคุมงาน และยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของจำเลยที่ 4 ไปใช้ในการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าวต่อสำนักงานเขต โดยได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 4 ถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนอาคารและค่าสูญเสียตัวอาคารอันทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้สอยอาคารหรือนำอาคารออกขายให้แก่ผู้อื่นแม้โจทก์มิได้นำสืบว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนเท่าใด แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้เนื่องจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

ผู้พิพากษา

ปริญญา ดีผดุง
สมชาย สินเกษม
สู่บุญ วุฒิวงศ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android