คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2553

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 24 ม.ค. 2554 15:03:39

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 4 ส่วนที่ 3 วิธีการจัดการบริษัทจำกัด มาตรา 1195 ให้สิทธิแก่กรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดอาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งได้นัดเรียกหรือประชุมกันหรือลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทได้ ปรากฏว่าข้ออ้างที่โจทก์ยกขึ้นเป็นเหตุฟ้องคดีนี้คือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามบันทึกข้อตกลงการให้สินเชื่อและการชำระหนี้ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2532 ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียพิเศษ มิได้เข้าร่วมประชุมและมิได้เสนอบุคคลเข้าเป็นกรรมการเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงข้อ 5.3 นั้น หาใช่เหตุตามบทบัญญัติมาตรา 1195 อันก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องเพิกถอนการประชุมตลอดทั้งมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวไม่ แต่เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงที่มีต่อกัน ซึ่งหากโจทก์ได้รับความเสียหายประการใดในฐานะที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ก็ชอบที่โจทก์จะต้องพิจารณาว่าโจทก์จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากฝ่ายที่โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตนได้หรือไม่ แต่โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195

ผู้พิพากษา

สมชาย จุลนิติ์
มนตรี ยอดปัญญา
ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android