คำพิพากษาย่อสั้น
ในการพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าว่าเหมือนหรือคล้ายกันและทำให้สาธารณชนหลงผิดหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) และมาตรา 13 ศาลจะต้องพิจารณาจากเครื่องหมายการค้าทั้งเครื่องหมาย มิได้พิจารณาเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น และยังต้องพิจารณาในส่วนของเสียงเรียกขาน ตลอดจนจำพวกและรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนด้วย เพราะศาลต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้บริโภคสินค้านั้น ๆ เป็นสำคัญว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถแยกแยะเจ้าของสินค้า หรือแสดงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับเจ้าของสินค้านั้นได้หรือไม่
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า MAGNUM ส่วนของบริษัท อ. เป็นอักษรไทยคำว่า แมกนั่ม จึงไม่เหมือนหรือคล้ายกันในเรื่องรูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าแม้เสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของบริษัท อ. มีเสียงเรียกขานที่เหมือนหรือคล้ายกันมาก เพราะเครื่องหมายการค้าคำว่า แมกนั่ม ของบริษัท อ. เป็นอักษรไทยที่สะกดเลียนเสียงภาษาอังกฤษคำว่า MAGNUM แต่สินค้าของโจทก์และบริษัท อ. เป็นรายการสินค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งลักษณะของการวางจำหน่ายในร้านค้าโดยทั่วไปน่าจะไม่ได้วางใกล้ชิดกันหรือบนชั้นวางสินค้าเดียวกัน ดังนั้น กลุ่มผู้บริโภคสินค้าของโจทก์กับของบริษัท อ. แม้จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันบ้าง แต่ก็ไม่น่าจะเกิดความสับสนได้
สินค้าส่วนใหญ่ของบริษัท อ. ภายใต้เครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวกับคำว่า MAGNUM เป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เมื่อไม่ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของบริษัท อ. เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ย่อมจะไม่ได้รับความคุ้มครองในสินค้าต่างจำพวกที่ขอจดทะเบียนไว้ และปรากฏต่อไปว่า บริษัท อ. ไม่เคยนำสินค้าประเภทชา หรือกาแฟออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้านี้ ความสับสนในหมู่ผู้บริโภคจึงไม่มี ประกอบกับโจทก์ได้ใช้คำว่า MAGNUM เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้ากับสินค้าไอศกรีมของตนในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว มิได้ประสงค์ที่จะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า MAGNUM เพื่อแอบอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าของบริษัท อ.