คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6302/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 13 ธ.ค. 2553 09:50:41

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 9 บัญญัติว่า "ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด" คำว่า ปัญหา หมายถึง ข้อสงสัย กรณีมีปัญหาหมายถึงกรณีมีข้อสงสัย ย่อมหมายถึงศาลที่รับพิจารณาคดีนั้นๆ ไว้แล้ว มีความสงสัยว่า คดีนั้นจะไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาในศาลของตน จึงต้องส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ โดยไม่มีข้อสงสัย ไม่ใช่ว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดยื่นคำร้องว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลนั้น ศาลนั้นจะต้องเสนอไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยทุกเรื่องเพราะจะทำให้การพิจารณาคดีต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากต้องรอการพิจารณาคดีไว้ขณะส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย จึงน่าจะไม่ใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ ที่ประสงค์จะให้การดำเนินกระบวนพิจาณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรม คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 7 อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอย่างชัดแจ้งแล้ว ทั้งการฟ้องคดีลักษณะเดียวกันนี้ ประธานศาลฎีกาก็เคยมีคำวินิจฉัยว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหลายเรื่องแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้เสนอปัญหาตามคำร้องของจำเลยทั้งสองไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย กรณีถือไม่ได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ปฏิบัติตามมาตรา 9
ตามบทบัญญัติในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ ที่ให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวนั้น หมายถึง กรณีที่ศาลนั้นเสนอปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย หากศาลนั้นมิได้เสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ศาลนั้นย่อมมีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือมีความมุ่งหมายเพื่อจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 7

ผู้พิพากษา

สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
พลรัตน์ ประทุมทาน
บุญรอด ตันประเสริฐ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android