คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9230/2551

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 12 ม.ค. 2554 09:14:15

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยเป็นผู้เสนอขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ ส. ป. และ ฉ. บุคคลทั้งสามจึงเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 ซึ่งมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 (4) เมื่อผู้บริโภคทั้งสามได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดสัญญาจะซื้อจะขายของจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายและได้ยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โจทก์ย่อมมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่จำเลยในศาลและมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามที่ร้องขอได้ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ขณะโจทก์นำเอกสารมาสืบ จำเลยไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ จึงถือได้ว่าจำเลยได้ยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับเอกสารนั้น รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารนั้นได้ตามมาตรา 93 (4) ((93 (1)) (เดิม))
โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า เป็นเรื่องละเมิดสิทธิผู้บริโภค แต่ตามคำบรรยายฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคใช้สิทธิของผู้บริโภคทั้งสามที่ถูกจำเลยละเมิดสิทธิโดยไม่ดำเนินการก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามกำหนดและส่งมอบจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามตามสัญญา เป็นการใช้สิทธิดำเนินคดีแทนผู้บริโภคทั้งสามในการบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย จึงต้องถืออายุความตามสัญญาจะซื้อจะขายไม่ใช่อายุความละเมิดตามที่จำเลยอ้างต่อสู้ เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างผู้บริโภคทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยไม่พร้อมที่จะชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสาม ผู้บริโภคทั้งสามจึงยังไม่ต้องชำระหนี้ที่เหลือแก่จำเลย เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสามภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่เพิกเฉย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่รับไว้ตามมาตรา 391
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 4
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ผู้พิพากษา

ชัยวุฒิ โลหชิตรานนท์
วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์
ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android